พาณิชย์ เผยผู้นำ 16 ชาติ RCEP พอใจผลเจรจา 7 เรื่องคืบหน้า คาดสรุปผลปี 62 ช่วงไทยเป็นปธ.อาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 15, 2018 15:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 33 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 14 พ.ย.61 โดยผู้นำได้ประกาศแถลงการณ์ร่วมแสดงความยินดีที่การเจรจาในปี 61 มีความคืบหน้าที่สำคัญ และได้เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของการเจรจาแล้ว โดยผู้นำแสดงเจตนารมณ์แน่วแน่ที่จะสรุปผลการเจรจาทั้งหมดในปี 62 ซึ่งไทยจะเป็นประธานอาเซียน

ทั้งนี้ ในปี 61 สมาชิก RCEP ทั้ง 16 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจา 6 ประเทศ คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ สามารถเจรจาเสร็จสิ้นแล้ว 7 เรื่อง ได้แก่ พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า, การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ, มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช, มาตรฐานกฎระเบียบทางเทคนิค, ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ, วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสถาบัน ซึ่งเกี่ยวกับการกำหนดความถี่ของการประชุมระดับรัฐมนตรี RCEP รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม คณะกรรมการย่อยชุดต่างๆ การกำกับดูแล และติดตามผลการปฏิบัติตามความตกลงหลังจากความตกลงมีผลบังคับใช้

สำหรับเรื่องอื่นๆ เช่น การเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน, นโยบายแข่งขัน, ทรัพย์สินทางปัญญา, กฎถิ่นกำเนิดสินค้า เป็นต้น ที่ยังเจรจาไม่เสร็จในปีนี้ สมาชิกจะร่วมกันผลักดันให้การเจรจาบรรลุผลสำเร็จในปี 62 โดยจะถือโอกาสที่ไทยเป็นประธานอาเซียนเร่งขับเคลื่อนการเจรจาอย่างเต็มที่ เพื่อให้บรรลุข้อตกลงได้ทั้งหมด และลงนามให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ หากบังคับใช้เร็ว สมาชิกจะได้รับประโยชน์จากความตกลงได้เต็มที่ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เกิดสงครามการค้า และภาวะการค้าโลกยังผันผวน

"การเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน การเจรจาในปีนี้ก้าวหน้ามาก โดยสมาชิกได้ยื่นปรับปรุงข้อเสนอการเปิดตลาดครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 พ.ย.61 ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่พอใจต่อระดับการเปิดตลาดที่ได้รับระหว่างกัน แต่ยังมีประเด็นที่บางประเทศต้องหารือกันต่อ อย่างไรก็ตาม ยังคงยึดรูปแบบการเปิดตลาดสินค้าคือ ลดภาษีนำเข้าเป็น 0% ในสินค้า 90-92% ของสินค้าที่ค้าขายระหว่างกัน ส่วนสินค้าอ่อนไหวและอ่อนไหวสูง ให้ทยอยลดภาษีภายใน 20 ปี และยอมให้แต่ละประเทศมีสินค้าที่ไม่นำมาลดภาษีได้ในสัดส่วน 1%" รมช.พาณิชย์กล่าว

สำหรับความตกลง RCEP เป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ ที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการผลิตและเศรษฐกิจของภูมิภาค และในส่วนของไทย RCEP จะช่วยปรับประสานกฎระเบียบให้มีความสอดคล้องกัน และอำนวยความสะดวกในการทำการค้าในภูมิภาค เช่น พิธีการศุลกากร, มาตรฐานสุขอนามัยพืช และกฎระเบียบทางเทคนิค โดยจะส่งผลให้การผ่านพิธีการศุลกากร แนวทางในการปฏิบัติเพื่อสร้างความมั่นใจว่ากฎหมายและกฎระเบียบของประเทศสมาชิก รวมทั้งการตรวจสอบมาตรฐานทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตร มีความชัดเจน แน่นอน และโปร่งใส ซึ่งจะทำให้ระบบการตรวจปล่อยสินค้ามีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น

นอกจากนี้ หากการเจรจาบรรลุสำเร็จทั้งหมด RCEP จะกลายเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีประชากรกว่า 3,560 ล้านคน ครอบคลุมมูลค่าการค้าโลกกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 29% ของมูลค่าการค้าโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ