นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "จากอีอีซีสู่เศรษฐกิจพิเศษทั่วประเทศ" ในงานสัมมนา Next Step Thailand : EEC ยุทธศาสตร์ไทยเชื่อมโลกว่า คาดว่าภายในเดือน พ.ย.หรือไม่เกินต้นเดือน ธ.ค.จะขยายโครงการพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ลงไปยังพื้นที่ภาคใต้ (SEC) ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และจังหวัดระนอง
"ขณะนี้การจัดทำรายละเอียดเสร็จแล้ว เหลือแค่ทำวิดีโอพรีเซ็นเทชั่น คิดว่าจะเสนอเข้า ครม.ได้อย่างช้าไม่เกินต้นเดือนธันวาฯ" นายกอบศักดิ์ กล่าว
สำหรับแผนพัฒนาของโครงการ SEC ประกอบด้วย การฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลน, การพัฒนาประมงชายฝั่ง, การพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราและปาล์มน้ำมัน, การพัฒนาท่าเรือระนอง, การสร้างรถไฟรางคู่ ชุมพร- ระนอง
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า โครงการนี้จะรองรับการส่งออกสินค้าไปทางฝั่งอันดามัน โดยใช้งบประมาณราวหนึ่งหมื่นล้านบาทพัฒนาท่าเรือระนองที่มีอยู่เดิม และลงทุนโครงการรถไฟรางคู่อีกหนึ่งหมื่นล้านบาทเชื่อมจากจังหวัดชุมพร-ระนอง
"โครงการนี้จะเริ่มได้คงราวกลางปีหน้าเพราะต้องรอผลศึกษา แต่รัฐบาลนี้จะวางกรอบเอาไว้ และคิดว่าจะมีการสานต่อถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะเป็นโครงการที่มาจากความต้องการของประชาชน ใช้งบไม่มากเพราะเป็นการลงทุนเพื่อปรับปรุงของที่มีอยู่เดิม" นายกอบศักดิ์ กล่าว
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการ EEC เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาลที่เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าไปอย่างมาก และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนและอินเดีย เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ และถือเป็นการพัฒนานำร่องก่อนที่จะขยายไปยังภูมิภาคอื่น
ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนา EEC จะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ 5 โครงการ ได้แก่ สนามบิน, ท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3, ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3, รถไฟฟ้าความเร็วสูง และศูนย์ซ่อมอากาศยาน
"เราตื่นมาแล้วพบว่ารอบตัวเปลี่ยนแปลงไปมาก ยักษ์สองตัว (จีน/อินเดีย) กำลังตื่น ขณะที่เราใกล้หมดบุญเก่า แล้วเราจะทำอย่างไรจากเดิมที่เศรษฐกิจเคยโตเกิน 10% แต่วันนี้ลงมาอยู่ที่ปีละ 2-3%...โครงการนี้จะเป็นบุญใหม่ช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวต่อไปได้อีก 30-40 ปี" นายกอบศักดิ์ กล่าว
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ EEC กล่าวว่า หากประเทศไทยไม่มีโครงการนี้ อีก 5 ปีการพัฒนาประเทศจะล้าหลังกว่าประเทศอินโดนีเซีย ดังนั้นการลงทุนใน EEC จึงไม่ได้คำนึงถึงเรื่องเงินลงทุนเป็นสำคัญ แต่จะเน้นเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีมากกว่า
อย่างเช่นโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่จะจัดตั้งในโครงการ EEC นั้นเป็น 1 ใน 9 แห่งที่เป็นเป้าหมายการลงทุนของแอร์บัส ซึ่งจะเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานขนาดใหญ่ที่มีความทันสมัยล่าสุดเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เนื่องจากปัจจุบันในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีเครื่องบินของแอร์บัสทำการบินอยู่ราว 7 พันลำ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีสำหรับประเทศไทย
"ขณะนี้ชื่อของประเทศไทยหรือ EEC มัน on the map สำหรับนักลงทุนแล้ว หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะผลักดันให้เดินหน้ากันอย่างไรต่อไป" นายคณิศ กล่าว
นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำผังเมืองพื้นที่ EEC ว่า จะเสร็จเรียบร้อยภายในกลางเดือน ธ.ค.นี้ และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ราวกลางปี 62 ถือว่ามีความรวดเร็วกว่าปกติที่ขั้นตอนการจัดทำผังเมืองเฉพาะจะต้องใช้เวลาดำเนินการราว 2 ปีครึ่ง
หลังจากจัดทำผังเมืองใหม่ของพื้นที่ EEC แล้วจะทำให้มีพื้นที่อุตสาหกรรมราว 3 แสนไร่ คิดเป็น 3-4% ของพื้นที่ทั้งหมด (ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา) เชื่อว่าน่าจะมีความเพียงพอที่จะรองรับการลงทุน เนื่องจากการลงทุนดังกล่าวกำหนดให้เป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรม ขณะเดียวกันพื้นที่ดังกล่าวจะรองรับประชากรราว 6-7 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกเท่าตัว
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "โครงสร้างคมนาคม EEC เชื่อมโลก" ว่า EEC ถือเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) ภาค 2 โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการหลัก คือ สนามบินอู่ตะเภา, เมืองการบิน, ท่าเรือแหลมฉบัง, ท่าเรือมาบตาพุด และรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
นอกจากนี้ยังมีการขยายโครงข่ายถนนที่เชื่อมโยงไปยังท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด, การจัดตั้งศูนย์บรรจุภัณฑ์สินค้าเพื่อส่งออก (Dry Port) โดยจะดำเนินการอย่างเบ็ดเสร็จครบวงจรก่อนขนส่งลงเรือได้ทันทีเลย ไม่ต้องมาพักรอตรวจสอบอีกครั้ง, รถไฟสายเด่นชัย-เชียงรายที่จะเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากจีนลงมาที่ท่าเรือแหลมฉบัง
รมว.คมนาคม กล่าวว่า การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมจะยึดหลักการเชื่อมโยงใน 3 ระดับ คือ การเชื่อมโลกด้วยรถไฟไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน, การเชื่อมระหว่างภาคที่เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจอื่นๆ ที่อยู่ตอนในของประเทศ และการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน
ด้านนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "ยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวเมืองใหม่ EEC" ว่า การพัฒนาโครงการนี้จะช่วยสร้างโอกาสทางการท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เพราะจะมีการเดินทางเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคมได้มากขึ้น โดยการสร้างกิจกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยกระจายรายได้ให้เข้าถึงเศรษฐกิจฐานรากได้มากขึ้น โดยไม่ต้องสนใจว่าอัตราการเติบโตของ GDP
ขณะที่รูปแบบการท่องเที่ยวในพื้นที่ จะเปลี่ยนจากเดิมไปเป็นโฮมสเตย์หรือฟาร์มสเตย์มากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงแหล่งผลิตผลไม้ ซึ่งช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องเสียค่าขนส่งและค่าเสื่อมสภาพสินค้า
นอกจากนี้ ยังสามารถจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์ เช่น การขี่จักรยานท่องเที่ยวรอบสนามบิน, การสนับสนุนให้มีการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกงเพื่อการถ่ายทำภาพยนตร์, การสร้างโอกาสในการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรไปทั่วโลกได้ภายใน 48 ชั่วโมง, การขายสินค้าโอทอปให้กับนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการในเส้นทางรถไฟไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน, การรวมตัวของชุมชนเพื่อให้บริการนำเที่ยวในพื้นที่ของตนเอง, การปรับพื้นที่สวนยางพาราสะอาดปลอดภัยเหมาะกับการขี่รถจักรยานท่องเที่ยว หรือใช้เป็นสถานที่นั่งวิปัสสนา เป็นต้น
"เมื่อคนในพื้นที่มีที่ยืน มีรายได้ ก็จะช่วยให้ไม่รู้สึกขัดแย้งกับสิ่งแปลกใหม่ที่เข้ามา ทั้งสนามบิน นิคมอุตสาหกรรม หรือท่าเรือ" นายวีระศักดิ์ กล่าว