นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คาดว่า ในปี 2551 โครงการที่เกี่ยวเนื่องหรือเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์ จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกมาก เพื่อรองรับโครงการผลิตรถยนต์ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะรถยนต์ประหยัดพลังงาน(อีโคคาร์ )
นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณแสดงความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการลงทุนจากกลุ่มผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมที่เตรียมขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุนกลุ่มใหม่ๆ ถึง 9 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 8,000 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมการลงทุนในปี 2550 ที่ผ่านมา นายสาธิต กล่าวว่า มีนักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมทั้งสิ้น 1,318 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 655,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าปี 2549 ถึงร้อยละ 32% ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 494,200 ล้านบาท
อุตสาหกรรมที่นักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค จำนวน 341 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 172,700 ล้านบาท รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วน และเครื่องจักร จำนวน 273 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 171,200 ล้านบาท อันดับ 3 คือ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี กระดาษและพลาสติก จำนวน 173 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 151,800 ล้านบาท ตามด้วยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 231 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 81,200 ล้านบาท
สำหรับการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ในปี 2550 มีจำนวน 846 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวม 502,737 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 63 เมื่อเทียบกับมูลค่าเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในปี 2549 ที่มูลค่า 307,668 ล้านบาท
อุตสาหกรรมที่นักลงทุนต่างชาติขอรับส่งเสริมมากที่สุดคือ ยานยนต์ ชิ้นส่วนและเครื่องจักร 153,531 ล้านบาท รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค 124,805 ล้านบาท อันดับ 3 อุตสาหกรรมปิโตรเคมี 100,010ล้านบาท อันดับ 4 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้า 78,985 ล้านบาท
สำหรับประเทศที่ลงทุนในไทยมากที่สุดยังคงเป็นญี่ปุ่น ยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 330 โครงการ มูลค่า 149,071 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับมูลค่าในปี 2549 ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 110,476 ล้านบาท รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าเงินลงทุน 85,752 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 131 เมื่อเทียบกับปี 2549 ซึ่งมีมูลค่า 37,059 ล้านบาท ตามด้วยกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป 74,145 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 142 เมื่อเทียบกับปี 2549 ซึ่งมีมูลค่า 30,532 ล้านบาท
ประเทศอื่นๆ ที่มีมูลค่าเงินลงทุนขยายตัวอย่างมากในปี 2007 ได้แก่ เยอรมนี มูลค่าเงินลงทุนของโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริม 37,080 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2,800 หรือ 28 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2549 ซึ่งมีมูลค่าเพียง 1,279 ล้านบาท และเกาหลีใต้ 11,568 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 121 เมื่อเทียบกับปี 2549 ซึ่งมีมูลค่า 5,230 ล้านบาท และประเทศจีน 17,175 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับปี 2549 ซึ่งมีมูลค่า 12,306 ล้านบาท
--อินโฟเควสท์ โดย อตฦ/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--