นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อนำเสนอแผนแม่บทพัฒนาการท่องเที่ยว ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก (The Royal Coast หรือ Thailand Riviera) ปี 60-64 กล่าวว่า แนวคิดการพัฒนาการท่องเที่ยวเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายฝั่งทะเลตะวันตก ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพรและระนอง
การแสนอแผนแม่บทฯ ในครั้งนี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดทิศทาง แนวทางรวมไปถึงแผนการดำเนินการเพื่อจะนำไปสู่การยกระดับพื้นที่ Thailand Riviera สู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวชั้นนำระดับโลกที่มุ่งเน้นความสำคัญทั้งในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นเมืองท่องเที่ยวเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ สามารถรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพและส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 5 ด้าน
คือ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการบริหารและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว 2. การพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันทางการท่องเที่ยวและการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อย่างยั่งยืน 3.การพัฒนาและส่งเสริมอัตลักษณ์ทางการท่องเที่ยว การส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน 4.การส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวและการประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยว และ 5. การพัฒนากลไกการบริหารจัดการการท่องเที่ยวแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่และพื้นที่เชื่อมโยง
น.ส.อรรธิกา พังงา รักษาการรองคณบดี ฝ่ายบริการวิชาการและกิจการพิเศษ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า แผนปฏิบัติการ Flagship ของการพัฒนา Thailand Riviera ประกอบด้วย 1.โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการและการเชื่อมโยงการท่องเที่ยว เป้าหมายเพื่อสร้างการเข้าถึงการเป็นศูนย์กลาง(Hub) และการกระจายนักท่องเที่ยวทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศเพื่อรองรับการขยายตัวทั้งในระดับเมืองรวมไปถึงการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อการท่องเที่ยว ความปลอดภัย มาตรฐานและสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาเส้นทางถนนเลียบชายหาด, การพัฒนาจุดแวะพักไหล่ทาง
ปรับปรุงทัศนียภาพสถานีรถไฟ 5 สถานีนำร่องคือสถานีรถไฟเพชรบุรี สถานีรถไฟหัวหิน สถานีรถไฟประจวบคีรีขันธ์ สถานีรถไฟปราณบุรี สถานีรถไฟชุมพรให้เป็น Magnet ดึงดูดนักท่องเที่ยว, การพัฒนาท่าเรือยอร์ชที่ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพรและระนอง, การพัฒนาด่านเข้าเมือง ได้แก่ ด่านสิงขรและด่านระนอง, การขยายทางวิ่งและลานจอดเครื่องบินการปรับปรุงและขยายสนามบินเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ได้แก่ สนามบินหัวหิน สนามบินชุมพร สนามบินระนอง
2.โครงการการฟื้นฟู พัฒนาและยกระดับแหล่งท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายยกระดับขีดความสามารถของทรัพยากรทางการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว ธุรกิจที่พักแรม สินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวในพื้นที่เพื่อสร้างแรงดึงดูดทางการท่องเที่ยว
3.โครงการส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาทุนมนุษย์ที่สอดคล้องต่อการพัฒนาสู่การเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวชั้นนำ เช่น โรงแรม5ดาว สปาที่มีมาตรฐาน แหล่งท่องเที่ยวใหม่ Theme Park ศูนย์แสดงสินค้าและนิทรรศการ การจัดประชุมสัมมนา (Mice) ที่สามารถดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสู่พื้นที่และเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งข้อนี้อาจจะต้องมีการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเข้ามาช่วย
4.โครงการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ทางการท่องเที่ยวของพื้นที่ในภาพรวมและพื้นที่ระดับจังหวัด อำเภอและชุมชนที่มีศักยภาพ การเสริมสร้างคุณค่าและมูลค่าบนฐานของอัตลักษณ์ในระดับต่างๆ การส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนภายใต้แนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
5.โครงการส่งเสริมการตลาดและสร้างการรับรู้ โดยกำหนดตลาดเป้าหมายเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวชั้นนำของเอเชีย การส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยว
6.โครงการบริหารจัดการการท่องเที่ยว มีเป้าหมายการกำหนดกลไกการบริหารจัดการที่เหมาะสมต่อการพัฒนาการท่องเที่ยว สร้างความร่วมมือและเครือข่ายและการกำหนดรูปแบบการสร้างความร่วมมือเพื้อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในพื้นที่
สำหรับ Flagship ทั้ง 6 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนรวม 1,700 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการที่ 1 มูลค่าลงทุน 320 ล้านบาท, โครงการที่ 2 มูลค่า 420 ล้านบาท,โครงการที่ 3 มูลค่าลงทุน 660 ล้านบาท, โครงการที่ 4 มูลค่าลงทุน 100 ล้านบาท,โครงการที่ 5 มูลค่าลงทุน 155 ล้านบาท และโครงการที่ 6 มูลค่า 80 ล้านบาท