นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีการเปิดลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ในกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนในรอบปกติได้ ระหว่างวันที่ 15 พ.ค. – 30 มิ.ย. 2561 พบว่ามีผู้มาลงทะเบียนทั้งสิ้น 4.5 ล้านราย และมีผู้ผ่านคุณสมบัติได้รับสิทธิจำนวน 3.1 ล้านคน คิดเป็น 68% ของผู้มาลงทะเบียนทั้งหมด และสามารถรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ในช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2561 เริ่มใช้บัตรได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 เป็นต้นไป
ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านสิทธิสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อหน่วยงานที่ไม่ผ่านสิทธิโดยตรงระหว่างวันที่ 16-30 พ.ย. นี้ โดยกระทรวงการคลังจะประกาศผลการอุทธรณ์อีกครั้งในช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2561
สำหรับความคืบหน้ามาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้ข้อมูลจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ พ.ย. 2561 โดยมีข้อมูลการใช้จ่ายระหว่างวันที่ 1- 14 พ.ย. 2561 อยู่ที่ 5.57 แสนราย คิดเป็นเงิน 145 ล้านบาท มีจำนวนภาษีแวตกว่า 9 ล้านบาท โดยพร้อมในการจ่ายเงินชดเชยดังกล่าว จำนวน 5% เข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ให้แก่ผู้มีสิทธิผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อนำไปใช้จ่ายต่อไป และเงินชดเชยอีก 1% เพื่อการออมเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารชนิดพิเศษที่กรมบัญชีกลางให้ธนาคารเปิดให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ขณะที่ความคืบหน้าของร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ร้านค้าเอกชนอื่นที่จดทะเบียนภาษีแวต และสมัครเข้าร่วมมาตรการดังกล่าว มีจำนวน 4.24 พันร้านค้า โดยผู้มีสิทธิจะได้รับเงินชดเชยต่อเมื่อชำระราคาสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งจากวงเงินกระเป๋าสวัสดิการ 200-300 บาทแล้วแต่กรณี และวงเงินที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเติมเองใน e-Money ที่ร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่จดทะเบียนภาษีแวต และรับชำระราคาสินค้าผ่านเครื่องชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เครื่องบันทึกการเก็บเงิน (Point of Sale : POS) ภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 แล้วเท่านั้น
ทั้งนี้ ร้านค้าเอกชนอื่นที่สมัครเข้าร่วมมาตรการ ให้สังเกตสัญลักษณ์สติ๊กเกอร์ "จ่ายด้วยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จากกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money PromptCard)" โดยผู้มีสิทธิสามารถใช้ได้เฉพาะส่วนของเงินใน e-Money เท่านั้นในการชำระราคาสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็จะได้รับเงินชดเชยคืนเช่นกัน
"ร้านค้าที่พร้อมเข้าร่วมโครงการ จำนวน 4.24 พันร้านค้านี้ มีทั้งร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านค้าเอกชน แต่หากดูในรายละเอียดแล้วจะพบว่า ปัจจุบันมีร้านธงฟ้าประชารัฐ จำนวน 3.06 หมื่นร้านค้า แต่เป็นร้านค้าที่มีการจดทะเบียนภาษีแวต และมีคุณสมบัติพร้อม เพียง 3.88 พันร้านค้าเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีร้านธงฟ้าขนาดเล็กที่ตอบรับการติดเครื่อง POS เพียง 940 ร้านค้าเท่านั้น จากทั้งหมด 2.31 พันร้านค้า โดยส่วนใหญ่ปฏิเสธ และให้เหตุผลว่ายังไม่พร้อม รวมถึงกลัวโดนตรวจสอบภาษีด้วย" นายลวรณ กล่าว