ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ของไทยอยู่ท่ามกลางภาวะการเปลี่ยนแปลงของกฏระเบียบการค้าโลกอีกครั้ง เมื่อผู้นำของทวีปอเมริกาเหนืออย่างสหรัฐฯเพิ่มมาตรการกีดกันการนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่แข่งมากขึ้น และเพื่อต้องการให้เกิดการลงทุนที่เอื้อประโยชน์ต่อสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ส่งผลให้จีนหนีผลกระทบจากมาตรการกีดกันเหล่านี้มาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง และทำให้ไทยสามารถส่งออกไปยังอเมริกาเหนือได้สูงขึ้น
โดยการลงทุนที่เพิ่มขึ้นมากในไทยนี้เอง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกยางล้อรถยนต์ของไทยซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นยางผู้ผลิตยางอะไหล่สำหรับรถยนต์ (REM) สัญชาติจีน ไปยังตลาดอเมริกาเหนือนำโดยสหรัฐฯจะเพิ่มสูงขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 16 ในปี 61 หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่สูงถึงมากกว่า 2,100 ล้านดอลลาร์ จากประมาณ 1,813 ล้านดอลลาร์ฯในปีก่อน ส่วนในปี 62 ก็คาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องและอาจส่งออกเพิ่มขึ้นไปได้สูงกว่า 2,500 ล้านดอลลาร์หรือขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 19
ปัจจุบันไทยนับเป็นประเทศผู้ส่งออกยางล้อรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีน และเยอรมนี โดยในปี 60 ที่ผ่านมาไทยส่งออกยางล้อรถยนต์ไปเป็นมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 3,900 ล้านดอลลาร์ฯ และในอนาคตอันใกล้นี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ของไทยน่าจะกำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสภาวการณ์การค้าระหว่างประเทศในตลาดโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเมื่อประเทศซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทยสำหรับยางล้อรถยนต์อย่างสหรัฐฯที่กินส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ 43 กลายมาเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฏระเบียบต่างๆทางการค้าของโลก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดผลต่ออุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ของไทยมากน้อยแตกต่างกันไป
ในอดีตที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจีน เคยโหมการลงทุนเข้ามาในไทยอย่างหนักหน่วงเมื่อครั้งที่จีนถูกสหรัฐฯเรียกเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD) กับสินค้ายางรถยนต์นั่งและรถปิกอัพในปี 2558 ในอัตราร้อยละ 14.54 ถึง 87.99 ตามแต่ละบริษัท ซึ่งช่วงปีดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญให้ผู้ประกอบการจีน โดยเฉพาะ REM ทยอยเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตยางล้อรถยนต์ในไทยมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด และยังคงขยายการลงทุนมาไทยอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ตั้งแต่ปี 2558 การส่งออก
ยางล้อรถยนต์ไทยไปยังตลาดอเมริกาเหนือได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนต่อเนื่อง โดยล่าสุดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 พบว่าสามารถรักษาระดับการขยายตัวได้ต่อเนื่องถึงกว่าร้อยละ 16 และทำให้ไทยได้กลายมาเป็นประเทศผู้ส่งออกยางล้อรถยนต์ไปยังสหรัฐฯเป็นอันดับ 1 ด้วยมูลค่าการส่งออกที่สูงถึง 1,701 ล้านดอลลาร์ฯ จากที่เคยเป็นอันดับที่ 5 ด้วยมูลค่าการส่งออกเพียง 693 ล้านดอลลาร์ฯในปี 2557
อนึ่ง แม้ตอนนี้ระดับความเข้มข้นของผลกระทบจากภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดจะลดลงมากแล้ว โดยล่าสุดสหรัฐฯได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับภาษีดังกล่าวนี้ใหม่กับจีน และได้มีการปรับลดอัตราภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดลงเหลือเพียงร้อยละ 1.5 ถึง 4.41 อย่างไรก็ตามในเดือนกรกฎาคม 2561 สหรัฐฯได้นำมาตรการกีดกันการค้ารูปแบบใหม่มาใช้ โดยประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งในการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าชุดที่สามรวมมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ฯนั้น ยางล้อรถยนต์ที่แต่เดิมสหรัฐฯเก็บภาษีนำเข้าจากจีนในอัตราร้อยละ 3.7 เท่าประเทศอื่นๆ ได้ถูกจัดเข้ามาอยู่ในสินค้านำเข้ากลุ่มนี้ และเริ่มมีการทยอยขึ้นภาษีไปแล้วตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2561 ในอัตราเริ่มต้นร้อยละ 10 ก่อนจะขยับเป็นร้อยละ 25 ในวันที่ 1 มกราคม 2562
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าจากการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯครั้งใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ กลุ่มผู้ประกอบการยางล้อรถยนต์จีนที่เป็นยาง REM น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัก และจำเป็นที่จะต้องย้ายฐานการผลิตออกไปยังประเทศอื่นที่มีความเหมาะสมในการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกยางล้อรถยนต์ทดแทนการส่งออกจากจีนโดยตรง โดยเฉพาะไทย ซึ่งมีจุดแข็งสำคัญหลายด้านในเรื่องของประสิทธิภาพการจัดการต้นทุนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการที่ไทยเป็นแหล่งผลิตยางพาราดิบ ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 44 ของต้นทุนทางวัตถุดิบของการผลิตยางล้อรถยนต์ทั้งหมด ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่ทำให้ไทยสามารถนำเข้าวัตถุดิบหลักสำคัญอื่น เช่น ผ้าใบยางรถ และเขม่าดำ มาได้โดยสะดวกจากจีนซึ่งเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบดังกล่าวเป็นอันดับ 1 ของโลก และการที่ไทยมีแรงงานที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในตลาดโลกด้วยอัตราค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่าจีนค่อนข้างมาก ทำให้จีนมีแผนที่จะขยายฐานการผลิตยางล้อรถยนต์มายังไทยอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามายังไทยหลายหมื่นล้านบาทในช่วง 1 ถึง 2 ปีนี้ และจะช่วยให้ไทยส่งออกยางล้อรถยนต์ไปตลาดอเมริกาเหนือได้มากขึ้น
แต่เดิมประเทศที่อยู่ในทวีปอเมริกาเหนือซึ่งมีการทำความตกลงการค้าเสรี NAFTA (North American Free Trade Agreement) สามารถนำเข้ายางล้อรถยนต์ OEM จากประเทศนอกกลุ่มเข้ามาเพื่อมาผลิตรถยนต์ที่ส่งออกขายกันระหว่างประเทศสมาชิกได้โดยรถยนต์ยังคงได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีนำเข้า เนื่องจากข้อกำหนดต่างๆยังไม่เข้มงวดมากนัก ทว่าใน ความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (United States-Mexico-Canada Agreement: USMCA) ที่จะถูกนำมาใช้แทนข้อตกลง NAFTA ในวันที่ 1 มกราคม 2563 นั้น มีประเด็นสำคัญเรื่องการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติต่างๆของรถยนต์นั่งและรถปิกอัพที่ได้ถิ่นกำเนิด (Rules of origin) ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีนำเข้า โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเกณฑ์แหล่งกำเนิดสินค้าของยางล้อรถยนต์ที่ประกอบในรถยนต์นำเข้า รวมไปถึงยางอะไหล่ที่เข้มงวดขึ้นมาก เป็นเหตุลดทอนความสามารถในการแข่งขันของยางล้อรถยนต์นำเข้าจากประเทศนอกกลุ่มสมาชิกอย่างชัดเจน
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือใหม่ที่มีการตั้งเกณฑ์แหล่งกำเนิดสินค้าในระดับที่สูงจนสามารถกีดกันการนำเข้ายางล้อรถยนต์โดยเฉพาะยาง OEM จากประเทศนอกกลุ่มสมาชิกไม่ให้เข้ามาทำตลาดในประเทศสมาชิกนี้ มีเป้าหมายสำคัญคือมุ่งเน้นให้เกิดการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนต่างๆในกลุ่ม USMCA มากขึ้น โดยการสร้างกฏระเบียบใหม่เพื่อให้เกิดการพึ่งพิงการนำเข้ารถยนต์ระหว่างกันที่สูงขึ้นนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการยางล้อรถยนต์หลายยี่ห้อมีแนวโน้มประกาศลงทุนผลิตยางล้อรถยนต์เพิ่ม โดยเฉพาะในเม็กซิโก และสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงประเด็นปัญหาเรื่องมาตรการกีดกันการนำเข้าของสหรัฐฯ และสอดรับต่อการขยายตัวของการผลิตรถยนต์ในกลุ่มประเทศสมาชิกที่เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตามศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกยางล้อรถยนต์จากไทยเข้ากลุ่มประเทศ USMCA ในวงที่จำกัดเท่านั้น โดยคาดว่าจะกระทบเพียงยาง OEM ซึ่งเป็นยางสำหรับตลาดบนที่นำเข้าไปเพื่อประกอบในรถยนต์ที่ส่งออกไปยังประเทศ USMCA เท่านั้นที่น่าจะส่งออกไปไม่ได้อีก แต่ยาง REM สำหรับตลาดบนบางรุ่น และตลาดล่างทั้งหมด น่าจะไม่ได้รับผลกระทบอะไร และยังมีโอกาสส่งออกได้ต่อเนื่องด้วย เนื่องจากสาเหตุต่างๆดังต่อไปนี้
1.การส่งออกยางล้อรถยนต์จากไทยไป USMCA ส่วนใหญ่เป็นยาง REM ราคาถูกสำหรับตลาดล่าง และสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดหลักถึงร้อยละ 94 ของการส่งออกไทยไป USMCA ทั้งหมดนั้น มีการเก็บภาษีนำเข้ากรณีไม่ได้ใช้สิทธิ GSP เพียงร้อยละ 3.7 เท่านั้น ซึ่งเป็นระดับตัวเลขอัตราภาษีที่ไม่กระทบราคาขายนัก เนื่องจากต้นทุนค่าจ้างแรงงานซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงถึงประมาณร้อยละ 25 ของต้นทุนการผลิตยางล้อนั้นพบว่า เม็กซิโกซึ่งเป็นฐานการผลิตที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำที่สุดแล้วในกลุ่ม USMCA ก็ยังมีอัตราค่าจ้างที่สูงกว่าไทยถึงกว่า 1.4 เท่า ไม่เพียงเท่านี้เม็กซิโกยังต้องพึ่งพาการนำเข้ายางพาราดิบอีกเป็นจำนวนมากด้วย
2.การส่งออกไปประเทศเม็กซิโก และแคนาดา เป็นตลาดที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 6 ของการส่งออกยางล้อไทยไปยังตลาดรวม USMCA และช่วงที่ผ่านมาการเข้าไปลงทุนผลิตยางในกลุ่มประเทศนี้ก็เน้นการเข้าไปลงทุนในยางล้อรถยนต์ส่วนบุคคลสำหรับตลาดบนทำให้การนำเข้ายางประเภทนี้จากไทยลดลงไปบ้าง แต่ทั้งเม็กซิโกและแคนาดายังคงมีสัญญาณการนำเข้ายางล้อรถบรรทุกและรถโดยสารสัญชาติจีนที่ผลิตจากไทยซึ่งเป็นยางอะไหล่และมีราคาถูกอยู่ในปริมาณสูง ทำให้สถิติการนำเข้ายางล้อรถบรรทุกและรถโดยสารจากไทยของทั้ง 2 ประเทศนี้ในปี 2560 เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดถึงร้อยละ 101 จากปีก่อนหน้า และยังคงขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้
จากผลของการเปลี่ยนแปลงกฏระเบียบทางการค้าต่างๆซึ่งทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทยนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะมีผลผลักดันให้การส่งออกยางล้อรถยนต์รวมของไทยไปยังตลาดอเมริกาเหนือเพิ่มสูงขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 16 ในปี 2561 หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่สูงถึงมากกว่า 2,100 ล้านดอลลาร์ฯ จาก 1,813 ล้านดอลลาร์ฯในปี 2560 โดยยางล้อรถบรรทุกและรถโดยสารเป็นประเภทยางที่มีการขยายตัวสูงที่สุดมากกว่าร้อยละ 35 ทั้งนี้เนื่องจากระยะหลังการลงทุนจากจีนที่เข้ามาจะเป็นการลงทุนในตลาดยางล้อรถบรรทุกและรถโดยสารเป็นหลักในไทย
ขณะที่ผลของการขยายการผลิตและทำตลาดยางล้อรถยนต์ภายในกลุ่ม ประเทศอเมริกาเหนือที่สูงขึ้น น่าจะกระทบเพียงการส่งออกยางล้อรถยนต์ส่วนบุคคลของไทยไปยังเม็กซิโกและแคนาดาเท่านั้น ซึ่งคาดว่ามูลค่าการส่งออกยางล้อรถยนต์ส่วนบุคคลโดยรวมที่ส่งออกไปทั้ง 2 ประเทศนี้ในปี 2561 น่าจะหดตัวเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น หรือคิดเป็นมูลค่าที่หายไปเพียง 10 ล้านดอลลาร์ฯจากปี 2560
ส่วนในปี 2562 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงคาดว่า การส่งออกยางล้อรถยนต์ของไทยโดยรวมไปยังตลาด อเมริกาเหนือจะยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกอาจเพิ่มขึ้นไปได้สูงกว่า 2,500 ล้านดอลลาร์หรือขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 19 จากปี 2561
อนึ่ง แม้ไทยจะมีจุดแข็งสำคัญที่ทำให้ยางล้อรถยนต์จากไทยสามารถแข่งขันได้ดีในตลาดอเมริกาเหนือจากเรื่องต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญที่จะต้องติดตามต่อจากนี้ไปและอาจมีผลกระทบต่อการส่งออกยางล้อรถยนต์ไทยไปยังตลาดสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดหลักและใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอเมริกาเหนือของไทย คือ การยกระดับการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ผ่านมาตรการปกป้องความมั่นคงของชาติ มาตรา 232 (National Security) ซึ่งอยู่ในระหว่างการสืบสวนของรัฐบาลสหรัฐฯ และยังไม่สรุปผลว่าจะทำการจัดเก็บภาษีนำเข้าหรือจำกัดโควต้านำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนประเภทใด และจากประเทศใด
แต่ในเบื้องต้นคาดการณ์ว่าภาษีรถยนต์นำเข้าที่จะถูกจัดเก็บเพิ่มขึ้นอาจสูงถึงร้อยละ 25 ซึ่งเป้าหมายหลักของการสืบสวนในครั้งนี้หลายฝ่ายมองว่าเป็นไปเพื่อกดดันประเทศต่างๆที่กำลังเจรจาการค้าเสรีกับสหรัฐฯ และสหรัฐฯเสียดุลการค้าสูงในหมวดรถยนต์และชิ้นส่วนกับประเทศเหล่านั้น และหากเกิดกรณีเลวร้าย คือ ยางล้อรถยนต์จากไทยอาจจะติดอยู่ในรายชื่อชิ้นส่วนที่จะโดนเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นที่อาจสูงถึงร้อยละ 25 ในท้ายที่สุด ก็อาจกระทบต่อการส่งออกยางล้อรถยนต์ของไทยอย่างไม่อาจเลี่ยง ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามต่อไป