น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมฯ ได้พิจารณามาตรการส่งเสริมการลงทุนกิจการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนพัฒนาทั้งพื้นที่ ระบบ และนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมเมืองอัจฉริยะ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้สอดคล้องกับการเป็นประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทกิจการ ได้แก่
1.กิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ กำหนดเงื่อนไขสำคัญ คือจะต้องจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะด้านสิ่งแวดล้อม (Smart Environment) และจะต้องลงทุนจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะด้านอื่นๆ อีกอย่างน้อย 1 ด้าน จาก 6 ด้าน (Smart Mobility, Smart People, Smart Living, Smart Economy, Smart Governance, Smart Energy) และจะต้องมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นข้างมาก
หากผู้ลงทุนสามารถจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะครบทั้ง 7 ด้านข้างต้นจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี(จำกัดวงเงิน) แต่หากดำเนินการไม่ครบทั้ง 7 ด้าน จะให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 5 ปี ในกรณีที่ตั้งโครงการอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี ภายหลังการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นสุดลง
2.กิจการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะ กำหนดเงื่อนไขสำคัญ คือโครงการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะที่จะขอรับการส่งเสริมจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะโดยจะให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 5 ปี (จำกัดวงเงิน) ในกรณีที่เป็นการพัฒนาระบบให้กับเมืองอัจฉริยะหรือนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี ผู้พัฒนาระบบดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปีเช่นกัน และหากตั้งโครงการอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี ภายหลังการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นสุดลง
3.กิจการพัฒนานิคมหรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ กำหนดเงื่อนไขสำคัญ คือต้องจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะภายในพื้นที่ครบทั้ง 7 ด้าน ได้แก่ Smart Mobility, Smart People, Smart Living, Smart Economy, Smart Governance, Smart Energy และ Smart Environmentโดยจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี (จำกัดวงเงิน) และจะต้องมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นข้างมาก เพื่อให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับแนวทางคณะกรรมการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะกำหนด ที่ประชุมจึงได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่จะขอรับส่งเสริมทั้งกิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ และกิจการพัฒนานิคมหรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะก่อนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างระบบนิเวศด้านนวัตกรรมและดิจิทัล โดยปรับปรุงเงื่อนไขประเภทกิจการศูนย์บ่มเพาะด้านนวัตกรรม (Innovation Incubation Center) ในหลายประเด็น เช่น เพิ่มพื้นที่ขั้นต่ำจากเดิม 300 ตารางเมตร เป็น 1,000ตารางเมตร เพื่อความเหมาะสม และต้องมีแผนการบ่มเพาะเพื่อการพัฒนานวัตกรรมตามที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ ซึ่งจะช่วยให้มีการพัฒนาและบ่มเพาะผู้ประกอบการได้อย่างเป็นรูปธรรม
รวมทั้งเห็นชอบให้บีโอไอเปิดให้การส่งเสริมประเภทกิจการ Maker Space หรือ Fabrication Laboratory เพื่อให้บริการเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์และลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบของตนเอง โดยต้องจัดให้มีพื้นที่สำหรับเป็นห้องปฏิบัติการเพื่อใช้ในงานสร้างนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และมีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ระบบสื่อสารหลักแบบใยแก้วความเร็วสูง ระบบไฟฟ้าสำรองจ่ายแบบต่อเนื่องด้วย โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
และเพื่อดึงดูดบริษัทระดับโลกที่มีชุมชนนักพัฒนาที่เข้มแข็งให้มาลงทุนในไทย ที่ประชุมได้อนุมัติให้เปิดให้การส่งเสริมประเภทกิจการ Co-Working Space เพื่อเสริมภาวะแวดล้อมให้เกิดการเชื่อมโยงกับนักพัฒนาของไทย และยังช่วยส่งเสริมชักจูงสตาร์ทอัพและ VC จากทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนในไทยด้วย เงื่อนไขสำคัญ คือต้องจัดให้มีพื้นที่ให้บริการไม่น้อยกว่า 2,000 ตารางเมตร และมีเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและสิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษีอากร