นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สภาพัฒน์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 62 จะขยายตัวได้ 4.2% หรืออยู่ในกรอบ 3.5-4.5%
โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1.การใช้จ่ายในภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี และสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง 2. การปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนรวม โดยการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ที่ดีต่อเนื่อง 3. การปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว 4. การขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกที่สามารถสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง และ 5.การเปลี่ยนแปลงทิศทางการค้า การผลิตและการลงทุนระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ในปีหน้าคาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 4.6% การนำเข้าขยายตัว 6.5% ดุลการค้าเกินดุล 14.9 พันล้านดอลลาร์ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 30.7 พันล้านดอลลาร์ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 0.7-1.7% การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 4.7% การลงทุนภาครัฐ 6.2% การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 4.2% และการอุปโภคภาครัฐบาล ขยายตัว 2.2%
ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดว่าจะอยู่ที่ 39.8 ล้านคน รายรับจากการท่องเที่ยว 2.24 ล้านล้านบาท ซึ่งเหตุที่ยังมองว่าการท่องเที่ยวในปีหน้ายังมีทิศทางที่ดี เพราะเชื่อว่าภาครัฐมีความพยายามอย่างเต็มที่ในการออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เพื่อจะเร่งฟื้นฟูตลาดนักท่องเที่ยวจีนให้กลับมาเป็นปกติ
"ปี 62 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ในช่วง 3.5-4.5% มีค่ากลางที่ 4.0% เป็นผลมาจากที่เรามองว่าเศรษฐกิจโลกในปีหน้าอาจจะขยายตัวได้ชะลอตัวลง แต่ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยจะยังอยู่ในเรื่องการลงทุนภาคเอกชน และการบริโภคภาคเอกชน เรามองว่าปีหน้า จากมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลได้ออกมาทั้งการท่องเที่ยว การลงทุน จะทำให้สถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวกลับขึ้นมาอยู่ในระดับปกติ...ดังนั้นตัวที่เราต้องเน้นมาก คือการส่งออกและการท่องเที่ยว ส่วนการลงทุนภาคเอกชน บริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ จะเป็นตัวช่วยดึงเศรษฐกิจไทยในปีหน้าได้พอสมควร" นายทศพร กล่าว
เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ในปี 62 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทย คือ ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก โดยเฉพาะแนวโน้มการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่โตเร็วกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ รวมถึงจับตามาตรการกีดกันทางค้าระหว่างสหรัฐและจีน
สำหรับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 61 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 62 นั้น สศช.มองว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญกับ 1.การสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวจากตลาดจีนให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในไตรมาแรกของปี 62 ควบคู่กับการฟื้นฟูภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย การส่งเสริมการขยายในตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกล และนักท่องเที่ยวรายได้สูง ตลอดจนการกระจายรายได้ลงสู่เมืองรองและชุมชน
2.การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่กำหนด โดยให้ความสำคัญกับการใช้โอกาสจากมาตรการกีดกันทางการค้า การติดตามการเปลี่ยนแปลงของสินค้านำเข้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า การปฏิบัติตามกรอบกติกาการค้าโลก รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบ
3.การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตทั้งในประเทศไทยและในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า เพิ่มการใช้กำลังการผลิตในประเทศให้มากขึ้น ชักจูงนักลงทุนในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ขับเคลื่อนโครงการลงทุนของภาครัฐ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
4.การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย และการสร้างควมเข้มแข็งให้กับ SMEs และเศรษฐกิจฐานราก โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว การดำเนินการตามโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งมาตรการสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์ในการลดภาระการชำระหนี้ และข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุน
5.การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง โดยการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณต่างๆ และการขับเคลื่อนโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง และภายใต้แผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
6.การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงให้มีเพียงพอต่อการรองรับการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น รวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสในการขยายตัวจากการย้ายฐานการผลิตระหว่างประเทศ และอุตสาหกรรมสำคัญที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาประเทศ
ด้านนายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการ สศช. ยังกล่าวถึงปัจจัยการเลือกตั้งต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้าว่า ยอมรับว่า ปัจจัยการเมืองยังประเมินได้ยาก เพราะต้องขึ้นอยู่กับว่านักลงทุนจะให้ความสำคัญกับมุมมองไหน เช่น ในช่วงหลังจากเกิดรัฐประหาร นักลงทุนจะมองการเลือกตั้งเป็นปัจจัยบวก แต่ระยะหลังๆ ที่รัฐบาลได้ประกาศโรดแมพเรื่องการเลือกตั้งออกมาแล้ว นักลงทุนก็จะเปลี่ยนเป็นให้ความสนใจกับนโยบาย และโครงการต่างๆ ว่าจะมีความต่อเนื่องหรือไม่หลังจากที่มีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลใหม่แล้ว