นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า ในปี 62 อุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและเกษตรแปรรูป ที่คาดว่าจะเติบโตได้ดีและเป็นที่ต้องการของตลาด ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่เน้นเทรนด์การรักสุขภาพ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเกิดมาจากความตื่นตัวและใส่ใจในสุขภาพของคนในสังคม โดยเฉพาะพืชผลเกษตรที่ให้คุณค่าทดแทนแป้งและน้ำตาล หรือ กลุ่มอาหารที่ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคของผู้สูงอายุ อาทิ เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ โดยตัวอย่างของผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปในกลุ่มนี้ เช่น ธัญพืชอัดแท่ง น้ำนมข้าวกล้อง เครื่องปรุงรสอาหารที่เน้นการลดโซเดียมหรือสารอาหารที่เกินความจำเป็น
2.อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่ผลิตมาจากผลไม้เมืองร้อน เนื่องด้วยความนิยมในการเลือกบริโภคของชาวไทยและชาวต่างชาติที่เพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนโยบายในการส่งเสริมผลิตผลทางการเกษตรประเภทดังกล่าวของรัฐบาล ที่คาดว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตในทิศทางที่ดีขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นผลไม้สด เช่น ทุเรียน มังคุด สับปะรด รวมทั้ง ผลไม้กระป๋อง ผลไม้อบแห้ง เครื่องดื่มหรือขนมขบเคี้ยวที่มีผลไม้เมืองร้อนเป็นส่วนผสม ซึ่งการเติบโตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นยังมีอานิสงส์ มาจากจำนวนนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวจีน ญี่ปุ่น ยุโรป และกลุ่มอาเซียนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย
3.อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปเพื่อสุขภาพที่ไม่ใช่อาหาร ซึ่งจะเป็นการเพิ่มคุณค่าในด้านของใช้ประจำวัน โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มไลฟ์สไตล์ เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลร่างกาย ซึ่งปัจจัยที่จะเพิ่มมูลค่าให้การทำธุรกิจด้านนี้ได้นั้น จะต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคและความนิยมของตลาดเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการใช้สารสกัด ส่วนผสมที่หลากหลายที่มีผลต่อจิตวิทยาในความเชื่อด้านคุณประโยชน์ รวมทั้งการให้ความสำคัญกับกลิ่นที่ช่วยในเรื่องการบำบัดและความหอม
4.ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่กำลังมาแรง โดยมีปีปัจจัยหนุนมาจากสังคมพื้นฐานของประเทศไทยที่ส่วนใหญ่เป็นสังคมเกษตรกรรม ทั้งนี้โอกาสที่จะเติบโตของกลุ่มสตาร์ทอัพได้นั้นจะต้องเน้นการพัฒนาโซลูชั่นเพื่อแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร เช่น การแบ่งปันเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือที่เหมาะสมกับเกษตรกรรมแต่ละประเภท การระดมทุนจากธุรกิจรายใหญ่เพื่อจัดซื้อวัตถุดิบหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ การพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย ตลอดจนการพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ๆที่จะเป็นโอกาสในการเข้าถึงตลาดที่ใหญ่ขึ้น
5.ชุมชนท่องเที่ยวทางการเกษตร จากรูปแบบการท่องเที่ยวที่หลากหลายในปัจจุบัน เป็นผลให้การท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันหลาย ๆ หน่วยงานรวมทั้งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมก็ได้มีนโยบายในการพัฒนาชุมชนดังกล่าวให้เติบโตได้ด้วยการนำความโดดเด่นของพื้นที่มาพัฒนาเป็นบริการทางการท่องเที่ยว เช่น บริการโฮมสเตย์ท่ามกลางธรรมชาติ การทดลองเก็บเกี่ยวพืชผล การทำกิจกรรมร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ทั้งนี้ นอกจากจะพัฒนาบริการท่องเที่ยวแล้ว ยังสามารถนำผลผลิตที่ได้จากการเกษตรมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ของฝากได้อีกด้วย
"ในปีถัดไปคาดว่าผลผลิตทางการเกษตรจะยังเป็นที่ต้องการในกลุ่มผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้การทำเกษตรกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องต้องปรับกระบวนการไปสู่การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในระดับที่เข้มข้น เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงและพฤติกรรมการบริโภค การดำเนินชีวิต รวมถึงการเพิ่มมูลค่าผลผลิตตั้งแต่ในระดับต้นน้ำ – ปลายน้ำ ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ตามกระแสดังกล่าว ทั้งในเรื่องของการปรับแนวคิด การเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจาก "สินค้าโภคภัณฑ์" ไปสู่ "สินค้านวัตกรรม"การกำหนดช่องทางตลาดเพื่อให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการ นอกจากนี้ จากการเติบโตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ยังถือเป็นโอกาสที่สำคัญที่จะช่วยผลักดันการพัฒนาธุรกิจแนวคิดใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น"
ในปี 2562 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้จัดเตรียมงบประมาณเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและเกษตรแปรรูปไว้กว่า 85 ล้านบาท โดยมีกิจกรรมส่งเสริมหลากหลายรูปแบบภายใต้ 16 โครงการ อาทิ การพัฒนาระบบมาตรฐานสากลหรือผลิตภาพในสถานประกอบการ การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการนำความรู้ทางเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนำไปสู่ การผลิตเชิงพาณิชย์ กิจกรรมพัฒนาคุณภาพด้วยมาตรฐานสารสกัด ซึ่งได้ตั้งเป้าให้ผู้ประกอบการเกิดการพัฒนา ในด้านต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 800 กิจการ จำนวน 650 คน
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมการเกษตรนำมาซึ่งความท้าทายอีกหลายประการที่ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญ ดังนั้นการปรับตัวและการปรับเปลี่ยนกระบวนการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงเป็นลำดับแรก ๆ โดยเฉพาะในเรื่องของนวัตกรรมที่จะต้องเน้นให้เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย ทั้งนวัตกรรมในการยืดอายุของผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมในการลดต้นทุน เช่น โลจิสติกส์ การลดของเสีย สินค้าคงคลัง ระบบออโตเมชั่น ลดระยะเวลาการทำงานในกระบวนการต่าง ๆ การใช้บิ๊กดาต้าเพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ มาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้น เทคโนโลยีเครื่องจักรกลที่ต้องมีประสิทธิภาพ ตลอดจนนวัตกรรมที่เปลี่ยนจากเกษตรเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น