ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเศรษฐกิจไทย Q4/61 ฟื้นกลับมาโตไม่ต่ำกว่า 4.0% หนุนทั้งปีโตอย่างน้อย 4.3% แม้ Q3 โตต่ำกว่าคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 19, 2018 18:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินภาพเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีว่าน่าจะยังกลับมาโตได้ไม่ต่ำกว่า 4.0% เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งที่เริ่มดำเนินการแล้วในส่วนของการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนการส่งออกและท่องเที่ยวที่สะดุดไปในช่วงไตรมาสที่ 3 น่าจะกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ 3 แม้อาจจะไม่โตได้เท่าในช่วงครึ่งปีแรก โดยในเบื้องต้นประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2561 น่าจะยังขยายตัวได้ในช่วงกรอบล่างของประมาณการที่ 4.3-4.8%

โดยมีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งที่เริ่มดำเนินการแล้วในส่วนของการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ระหว่างการพิจารณาที่มีวงเงิน 1 แสนล้านบาท ขณะที่การส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีน่าจะกลับมาขยายตัวได้สูงกว่าไตรมาสที่ 3 แต่ไม่น่ากลับไปเติบโตในระดับเดียวกับช่วงครึ่งปีแรก โดยยังคงต้องติดตามผลการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเพื่อหาทางลงในเรื่องข้อพิพาททางการค้าในช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ หากสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเก็บภาษีนำเข้าจากจีนในรอบสุดท้ายมูลค่า 2.68 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงต้นปีหน้า อาจจะเป็นปัจจัยเร่งให้การส่งออกของประเทศในภูมิภาค รวมถึงไทยไปยังจีนมีมากขึ้นในช่วงสิ้นปีนี้ เช่นกันกับภาคการท่องเที่ยว โดยมาตรการฟรีวีซ่าของภาครัฐน่าจะช่วยประคับประคองสถานการณ์การท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่นให้กลับมาฟื้นตัวได้

"ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2561 น่าจะยังขยายตัวได้ในช่วงกรอบล่างของประมาณการที่ 4.3-4.8%" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

เนื่องการพึ่งพิงการเติบโตจากเศรษฐกิจภายนอกประเทศมีความไม่แน่นอนมากขึ้น กลายโจทย์ที่ท้าทายของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ซึ่งอาจจะทำให้ประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 มีค่ากลางของกรอบประมาณการที่อาจจะต่ำกว่า 4.3% การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจหลักของโลกในปีหน้า รวมถึงผลกระทบจากเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะเป็นปัจจัยลดทอนแรงขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องหันมาพึ่งพิงการใช้จ่ายในประเทศมากขึ้น ซึ่งการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าจะช่วยสร้างบรรยากาศการลงทุนในประเทศ สอดรับไปกับการก่อสร้างของโครงการโครงสร้างพื้นฐาน EEC ที่จะมีการประมูลแล้วเสร็จในช่วงต้นปีหน้า และคาดว่าจะมีเม็ดเงินก่อสร้างลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้ในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 ซึ่งจะเป็นตัวหนุนนำให้ภาคเอกชนมีการลงทุนก่อสร้างตามมาเช่นกัน

สำหรับภาพเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 โตต่ำกว่าที่ตลาดคาด และน่าจะเป็นระดับต่ำสุดในรอบปี 2561 จากปัจจัยนอกประเทศเป็นหลัก เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัว 3.3% ต่ำกว่า Consensus ที่ประมาณการไว้ที่ 4.1% และต่ำกว่าการขยายตัวเฉลี่ยในช่วงครึ่งแรกของปีที่ 4.8% ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2561 ขยายตัว 4.3% ต่อปี ซึ่งการชะลอตัวลงของการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 เป็นผลมาจากการส่งออกและท่องเที่ยวเป็นสำคัญ โดยการส่งออกที่ชะลอตัวลงอย่างมากในไตรมาสที่ 3 เป็นผลมาจากการหดตัวในเดือน ก.ย.ที่ยังมีปัจจัยชั่วคราวปะปนอยู่ในเรื่องของความผันผวนจากการส่งออกทองคำ ท่ามกลางผลกระทบจากสงครามการค้า และการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจหลักของโลก ยกเว้นสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ภาคการใช้จ่ายในประเทศเติบโตต่อเนื่อง การขยายตัวที่สูงขึ้นของการใช้จ่ายครัวเรือน รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนช่วยชดเชยผลกระทบจากเศรษฐกิจภายนอกลงได้ โดยการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณการฟื้นตัวของภาคก่อสร้าง รวมถึงภาคการผลิตยังคงลงทุนต่อเนื่องในเครื่องมือเครื่องจักร ในขณะที่การใช้จ่ายครัวเรือนในไตรมาสที่ 3 ที่เติบโตในระดับสูงในรอบ 5 ปี ยังเป็นการเติบโตมาจากยอดขายรถยนต์นั่ง การใช้จ่ายของคนไทยที่ไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งอาจจะไม่สะท้อนถึงการกระจายการเติบโตเศรษฐกิจลงสู่ฐานราก แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่เริ่มดำเนินการไปแล้วในส่วนของการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรก็น่าจะช่วยประคองภาพการใช้จ่ายของประชาชนกลุ่มนี้ไม่ให้แย่ลง

"ภาพเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัว 3.3%YoY ต่ำสุดในรอบปี 2561 และนับเป็นการโตต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 4.1%YoY จากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศกลับส่งสัญญาณดี ทั้งการบริโภคครัวเรือนและการลงทุนเอกชน" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในปีหน้าภาคธุรกิจยังมีความท้าทายจากต้นทุนทางการเงินที่จะเพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยขาขึ้น ความผันผวนจากเรื่องค่าเงินจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ความเปราะบางของเศรษฐกิจเกิดใหม่ รวมถึงทิศทางราคาน้ำมันที่อาจจะกลับมาเร่งตัวขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ