นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแก้ไขร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...., ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ออกตามความใน พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) และร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ออกตามความใน พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561
โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว คือ
(1) ปรับเพิ่มเงินให้ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญซึ่งได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดบำนาญรวมกันทุกประเภท และรวม ช.ค.บ. แล้ว ต่ำกว่าเดือนละ 10,000 บาท ให้ได้รับ ช.ค.บ. เพิ่มขึ้นเมื่อรวมกับเบี้ยหวัดบำนาญแล้วจะได้รับเงิน เดือนละ 10,000 บาท
(2) ขยายเพดานของวงเงินบำเหน็จดำรงชีพให้แก่ผู้รับบำนาญซึ่งมีอายุตั้งแต่ 70 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เพิ่มอีก 100,000 บาท จากเดิมที่ให้ขอรับได้ในอัตรา 15 เท่าของบำนาญรายเดือนที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 400,000 บาท เป็น ให้ขอรับได้ในอัตรา 15 เท่าของบำนาญรายเดือนที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยหากผู้รับบำนาญเคยขอรับบำเหน็จดำรงชีพไปบางส่วนแล้ว ให้ขอรับได้ไม่เกินจำนวนเงินที่ยังไม่ครบตามสิทธิ แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ทั้งนี้ หลังจากที่กฎกระทรวงประกาศใช้แล้วจะมีผลใช้บังคับใน 60 วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว กรมบัญชีกลางจะร่างหลักเกณฑ์และปรับระบบการจ่ายเงินให้รองรับกับการขอรับบำเหน็จดำรงชีพตามวงเงินที่กำหนดขึ้นใหม่ และจะประกาศหลักเกณฑ์ให้ทราบโดยเร็วต่อไป
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า การแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้ผู้รับบำนาญสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในการดำรงชีพให้แก่ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ