นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคมเปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง โครงการพัฒนาทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ว่า โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือของ 2 หน่วยงาน เพื่อแก้ปัญหาการจราจรบริเวณรอบท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งพื้นที่ถูกปิดล้อม ขณะที่กิจกรรมท่าเรือมีปริมาณรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าออกประมาณ 3 ล้านเที่ยว/ปี โดยคาดว่าจะก่อสร้างได้ปลายปี 62 แล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 64-65 ซึ่งจะช่วยบรรเทาความแออัดการจราจรบนถนนเชื้อเพลิงและถนนเลียบทางรถไฟสายเก่าได้มาก
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมมีนโยบายสำคัญ 2ส่วน คือ ก่อสร้างทางเชื่อมท่าเรือกรุงเทพ-ทางด่วน S1 และอีกส่วนคือต่อขยายปลายของทางด่วนบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ข้ามจากหน้าบริเวณอมตะนคร ไปยังบายพาสชลบุรี ซึ่งจะช่วยการขนส่งด้วยรถบรรทุก จากท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง มีความสะดวกยิ่งขึ้น และจะสามารถเพิ่มศักยภาพในการรองรับตู้สินค้าที่ท่าเรือกรุงเทพ ได้มากขึ้นจากปัจจุบันที่ถูกจำกัดที่ 1.5 ล้านทีอียู อีกด้วย
"พื้นที่การท่าเรือมีพื้นที่หลายพันไร่ ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจสูงมาก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือรถบรรทุกขนาดใหญ่ จะต้องใช้ทางบนถนนพื้นราบ ซึ่งก่อให้เกิดความยากลำบากและปัญหาการจราจรเป็นอย่างยิ่ง ลักษณะพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพเป็นพื้นที่ปิดล้อมขนาดใหญ่ หรือเป็นซุปเปอร์บล็อก ในการพัฒนาให้มีการเชื่อมต่อทางพิเศษเข้ามาในพื้นที่ท่าเรือจึงมีความจำเป็นมาก จะสามารถทำให้รถบรรทุกส่วนหนึ่งที่จะเข้าออกท่าเรือกรุงเทพ สามารถไปใช้ทางด่วนได้ ลดการรบกวนประชาชนในพื้นที่และการแออัดการจราจรพื้นราบ ช่วยให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เขตคลองเตยโดยรอบท่าเรือสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญปัญหาความแออัดของระบบจราจรในปัจจุบัน ทำให้มีการจำกัดจำนวนตู้ ที่จะขนย้ายโดยท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งจำกัดอยู่ที่ 1.5 ล้านตู้ต่อปี ก็จะคลายตัวไป "นายไพรินทร์กล่าว
เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผู้อำนวยการ สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ กทท.กล่าวว่า คณะทำงานร่วม ระหว่าง กทท. กทพ.และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ได้สรุปแผนโครงการเบื้องต้น และจะมีการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อออกแบรายละเอียดและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ในปี 62 โดยในส่วนของค่าก่อสร้างจะเป็นการร่วมดำเนินการกับกทพ. โดย กทท.รับผิดชอบค่าก่อสร้างโครงสร้างที่อยู่ในพื้นที่ท่าเรือ
นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่า กทพ.กล่าวว่า กทพ.ร่วมมือกับ กทท.พัฒนาโครงข่ายทางด่วน S1 ต่อเชื่อมเข้าท่าเรือกรุงเทพ ระยะทางรวมประมาณ 1.8 กม. ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการของท่าเรือ โดยจะมีการก่อสร้างทางขึ้นลง ต่อจาก ทางด่วนS1 เป็นทางยกระดับ และทางระดับดิน ไปยังศูนย์กระจายสินค้าของท่าเรือโดยตรง โดยกทพ.จะทำ การศึกษาความเหมาะสม (FS) และออกแบบรายละเอียด (Detail&Design) โดยประมาณการณ์ค่าก่อสร้างไว้ที่ 1,500 ล้านบาท โดยคาดว่าจะออกแบบเสร็จในปี 62 ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี เปิดให้บริการได้ในปี 65