นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นว่า หากจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ก็ไม่มีแรงกดดันที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์จะต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามในทันที โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เนื่องจากมองว่าขณะนี้ในระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีสภาพคล่องอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ประกอบกับในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ธนาคารพาณิชย์สามารถทำกำไรได้ดีกว่าอยู่แล้ว
"เชื่อมั่นว่าสภาพคล่องที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของแบงก์ยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับเร็ว แม้ว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ตาม" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
พร้อมระบุว่า อัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินไทยนั้น ไม่ควรจะเกิดผลกระทบหรือมีการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง เนื่องจากสภาพคล่องในระบบการเงินไทยยังอยู่ในระดับสูง เพราะแม้อัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินโลกได้ปรับขึ้นไปสูงค่อนข้างมาก และหลายประเทศเพื่อนบ้านได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปแล้วก็ตาม แต่อัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรของไทยไม่ได้ขึ้นไปเร็วมาก เนื่องจากไทยพึ่งพิงสภาพคล่องในประเทศเป็นหลัก และไม่มีปัญหาเสถียรภาพด้านต่างประเทศเหมือนเช่นประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ซึ่งไทยมีกันชนรองรับแรงปะทะที่จะมาจากภายนอกได้ดีกว่า
อย่างไรก็ดี แม้ขณะนี้ ธปท.จะยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่อัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรได้ปรับขึ้นไปบ้างแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินตลาดทุนโลกที่ขยับขึ้น ซึ่งเมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรปรับสูงขึ้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์จะแข่งกันปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ารายใหญ่ ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกค้ารายใหญ่ค่อนข้างมาก ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีลูกค้ารายใหญ่บางส่วนกลับมากู้แบงก์มากขึ้น
"ในช่วงที่สภาพคล่องยังสูงอยู่นี้ ความจำเป็นในการรีบปรับอัตราดอกเบี้ยหลักๆ หรืออัตราดอกเบี้ยพื้นฐานจึงไม่มีความจำเป็น ไม่มีแรงกดดันให้สถาบันการเงินต้องเร่งปรับดอกเบี้ย พวก MLR หรือ MOR เพราะมองอีกข้างหนึ่ง เขาก็ได้อานิสงส์จากการแข่งขันที่ลดลงสำหรับลูกค้ารายใหญ่ ที่เมื่อก่อนอาจต้องไปแข่งกับตลาดพันธบัตรที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ส่วนอีกข้างคือสภาพคล่องในระบบการเงินไทยยังค่อนข้างสูง และเมื่ออัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น แบงก์ก็มีความสามารถในการทำกำไรได้ดีกว่า เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากใช้เวลานาน แต่การปล่อยกู้ เขาจะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นทันที" นายวิรไทกล่าว
พร้อมย้ำว่า การทำนโยบายการเงินของ ธปท.ต้องประเมินสถานการณ์อยู่ตลอด โดยมีการคาดการณ์ไปในอนาคต และชั่งน้ำหนักในปัจจัยที่สำคัญ 4 ด้าน คือ 1.พัฒนาการของอัตราเงินเฟ้อ 2.ความเข้มแข็งในการขยายตัวของเศรษฐกิจ 3.เสถียรภาพของระบบการเงิน 4.ความสามารถในการทำนโยบายในอนาคต
"เราต้องมองไกล ถึงประเด็นความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น และป้องกันไม่ให้เกิดจุดเปราะบางกับเศรษฐกิจไทย ในการประชุม กนง.ครั้งล่าสุด แม้จะมีกรรมการที่เห็นควรให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเป็น 3 เสียง แต่อีก 4 เสียงเห็นควรให้คงดอกเบี้ยนั้น แต่ทุกคนยังเห็นตรงกันว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายยังจำเป็นสำหรับประเทศไทย แต่ระดับการผ่อนคลายที่มากเป็นพิเศษแบบที่เคยเป็นมา อาจจะลดความจำเป็นลง เราต้องประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพราะแม้เศรษฐกิจหลายตัวยังมีโมเมนตัมการขยายตัวได้ดี แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยเศรษฐกิจภายนอกประเทศ เช่น สงครามการค้า การส่งออก และการท่องเที่ยว" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
ขณะเดียวกัน การที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำเป็นเวลานาน และต่ำมากเป็นพิเศษ ย่อมจะทำให้เกิดจุดเปราะบาง และส่งผลข้างเคียงต่อระบบการเงินไทยได้ ดังนั้นแนวทางการตัดสินนโยบายของ ธปท.ยังยึดหลัก Data Dependent คือต้องประเมินสถานการณ์ และบริบท รวมทั้งข้อมูลต่างๆ อย่างละเอียดในการตัดสินนโยบายแต่ละครั้ง
"บางครั้งมีข่าวที่อาจทำให้เข้าใจผิด ว่าแบงก์ชาติจะขึ้นดอกเบี้ย และต้องขึ้นต่อเนื่องทุกครั้งที่มีการประชุม อันนั้นไม่ใช่ เพราะการตัดสินใจของเรา คือใช้หลัก data dependent ทุกครั้งที่มีการประชุม เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ไม่ได้หมายความว่าเมื่อขึ้นแล้ว จะต้องขึ้นต่อทุกครั้ง" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว