นักเศรษฐศาสตร์ มองศก.ไทยปี 62 ทรงตัว รับแรงกดดันจากปัจจัยนอกปท. แม้ในปท.หนุน, คาดกนง.ขึ้นดอกเบี้ยค่อยเป็นค่อยไป

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 22, 2018 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตรชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ "เศรษฐกิจไทย ปี 2562 มองไปข้างหน้า" ว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกใน 61 และปี 62 ยังเผชิญกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะปัจจัยหลักที่สำคัญที่ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจโลกจากนี้ไปเกิดการชะลอตัวขึ้น คือ การดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ หลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้นมาแล้วในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 51 ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปัจจุบันได้ฟื้นตัวกลับมาดีขึ้นแล้ว ทำให้สหรัฐฯ เริ่มยกเลิกการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป

จะเห็นได้จากในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้เริ่มปรับโครงสร้างนโยบายการเงิน โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ระดับ 2.25% ในปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะทยอยปรับขึ้นไปที่ใกล้ระดับ 3% โดยที่คาดว่าในช่วง 12 เดือนนับจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 3-4 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ทำให้ในปี 62 อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะอยู่ที่ระดับ 3% อีกทั้งสหรัฐฯ ยังได้ทยอยลดการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินลง โดยการดึงเม็ดเงินลงทุนในระบบกลับมา ซึ่งเป็นวิธีการที่สหรัฐฯ จะชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจในประเทศลง หลังจากที่พลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศกลับมาได้อีกครั้ง

โดยการที่สหรัฐฯ เริ่มทยอยลดการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จากนี้อาจจะไม่ได้เห็นการเติบโตมากเมื่อเทียบกับช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา และส่งผลกระทบต่อมาที่เศรษฐกิจโลกที่อาจจะไม่สามารถเติบโตได้มากเช่นเดียวกัน หรืออาจจะมีแนวโน้มที่ชะลอตัวลงไป รวมไปถึงประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้เศรษฐกิจโลกเกิดการชะลอตัวมากขึ้น เพราะทั้ง 2 ประเทศถือเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ของโลก และเมื่อมีผลกระทบเกิดขึ้นต่อทั้ง 2 ประเทศ ก็จะเกิดผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ตามมา

"ปีที่แล้วเศรษฐกิจโลกเป็นแบบ Synchronized Growth แต่ปีนี้เป็นแบบ Synchronize Slow ยกเว้นสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจโตดีต่างกับประเทศอื่นๆ และลักษณะแบบนี้อาจจะไปถึงปีหน้าด้วย ปัจจัยที่ส่งผลคงมาจากสหรัฐฯ ที่เขาเริ่มไม่เร่งการกระตุ้นเศรษฐกิจมากแล้ว หลังจากเศรษฐกิจฟื้นดีขึ้นในรอบ 10 ปี ทำให้สหรัฐฯ ปรับโครงสร้างนโยบายการเงิน และเริ่มทยอยผ่อนเท้าออกจากคันเร่งแบบค่อยเป็นค่อยไป จะเห็นได้จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อดอกเบี้ยขึ้นก็มีผลต่อต้นทุนการเงินที่แพงขึ้น และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนได้ส่งผลกระทบต่อตลาดจีนชะลอตัว ทำให้กระทบเศรษฐกิจโลกไปด้วย ซึ่งปีหน้าเศรษฐกิจโลกอาจจะยังมีแนวโน้มที่ชะลอตัวได้อยู่"นายพิพัฒน์ กล่าว

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 62 คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) จะขยายตัวได้กว่า 3% หลังจากที่เศรษฐกิจไทยผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในช่วงครึ่งปีแรกของปี 61 ที่ขยายตัวได้สูงถึง 4.3% และเริ่มเห็นการชะลอตัวลงตั้งแต่ไตรมาส 3/61 เป็นต้นมา โดยที่ GDP ในปี 61 คาดว่าจะอยู่ที่ 4% ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ 4.3% ซึ่งมีปัจจัยที่กดดันเศรษฐกิจไทยมาต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 61 มาถึงปี 62 คือ ภาคการส่งออกที่ยังเผชิญกับความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ทำให้ภาคการส่งออกของไทยเริ่มขยายตัวได้ช้าลง ซึ่งหากสงครามการค้าเริ่มบานปลายมากขึ้น จะส่งผลทำให้การค้าโลกชะลอตัวลง โดยที่ในปี 62 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF )ได้มีการประเมินมูลค่าการค้าโลกจะชะลอตัวลง จากปัจจัยสงครามการค้า เพราะจีนถือเป็นซัพพลายเชนที่ใหญ่ในตลาด และหากมีผลกระทบจะส่งผลไปยังประเทศอื่นๆที่ส่งออกสินค้าไปจีนด้วย

นอกจากนี้ สงครามการค้ายังส่งผลให้การลงทุนต่างๆ และการย้ายฐานการผลิตเกิดการชะลอตัว เพราะต้องมีความรอบคอบในการพิจารณาถึงผลกระทบปัจจัยต่างๆ ซึ่งปัจจุบันประเด็นของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงไม่แน่นอน ทำให้การลงทุนต่างๆ ยังชะลอการตัดสินใจตามไปด้วย ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวไทยในช่วงที่ผ่านมาเกิดการชะลอตัว เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวไทยลดลงไปมาก หลังจากเกิดเหตุการณ์เรือล่มในจังหวัดภูเก็ต และปัจจุบันยังไม่มีแนวโน้มว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนจะกลับมากขึ้นอย่างเร็วที่สุด ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 61 และในปี 62

"การส่งออกและท่องเที่ยวเป็น 2 ตัวขับเคลื่อนหลักในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดี สามารถขยายตัวได้ถึงจุดสูงสุดที่ 4.3% และปัจจุบันตัวขับเคลื่อนหลักทั้งสองชะลอตัวลงไป ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน ทำให้ในปีนี้ GDP ที่ 4.3% คงเป็นไปได้ยาก และอาจจะอยู่ที่ประมาณ 4% ปีนี้ และปีหน้าประมาณ 3% ปลาย"นายพิพัฒน์ กล่าว

ด้านแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าในช่วง 12 เดือนนับจากนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจำนวน 1-2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% แต่อย่างไรก็ตาม มองว่ากนง.จะไม่เร่งการขึ้นอัตราเบี้ยเร็วมากนัก เพราะภาพรวมของเศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง จากโครงสร้างของเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ทุกตัว และยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกเข้ามากระทบ และอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันยังถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากราว 1% ซึ่งทำให้กนง.จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป และมีเครื่องมือทางการเงินไว้รองรับในภาวะที่ภาพรวมของเศรษฐกิจไม่ค่อยดีนัก และประเทศไทยยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง เพราะมีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับที่สูง มีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลมาก ทำให้ประเทศไทยยังเป็นที่สนใจต่อนักลงทุนต่างชาติอยู่ จะเห็นได้จากกระแสเงินทุนที่ไหลเข้า-ออกประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า ตลาดเกิดใหม่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากปัจจัยสงครามการค้า โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ทำให้มีเงินไหลออก และการส่งออกชะลอตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศเกิดใหม่ที่ชะลอตัวมากกว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งผลกระทบในรอบนี้ไม่เหมือนกับในช่วงปี 56 ที่ผ่านมาที่เป็นวิกฤตแค่ชั่วคราว และแต่ละประเทศสามารถพลิกกลับมาตั้งตัวในสถานะที่ดีใหม่ได้

โดยครั้งนี้ประเด็นสงครามการค้า ถือเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อภาพรวมของการค้าโลกในระยะยาว และมีผลอย่างชัดเจนต่อประเทศเกิดใหม่ในภูมิภาคอาเซียนที่มีการส่งออกไปประเทศจีนที่เป็นคู่ค้าหลักเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งที่ผ่านมาการส่งออกไทยเริ่มชะลอตัวลงหลังเกิดประเด็นสงครามการค้าขึ้น ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้และปี 62 จะขยายตัวได้ที่ 4% เท่ากัน อีกทั้งยังมีภาคการท่องเที่ยวที่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงเข้ามากดดัน แต่มองว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวน่าจะคลี่คลายไปได้ หลังจากที่ภาครัฐเริ่มเดินสายสร้างความเข้าใจกับประเทศต่างๆ และมีมาตรการออกมาสนับสนุนนักท่องเที่ยวมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่สำคัญที่จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ คือ การบริโภคของครัวเรือนในประเทศที่ยังคงเห็นการเติบโตได้ไม่ดีนัก แม้ว่าในไตรมาส 3/61 ที่ผ่านมาการบริโภคครัวเรือนจะเติบโตสูงถึง 5% แต่มาจากการเติบโตของยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น 20% ทำให้การบริโภคครัวเรือนในไตรมาส 3/61 เติบโตได้สูง ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันแค่ชั่วคราว แต่เมื่อกลับมาย้อนดูที่หมวดอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องนุ่งห่มยังเติบโตได้น้อยและต่ำกว่าค่าเฉลี่ย สะท้อนให้เห็นว่ากำลังซื้อยังไม่เห็นการฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะกำลังซื้อในระดับล่างที่ยังได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนที่สูง ราคาสินค้าเกษตรที่ยังตกต่ำ ขณะที่การบริโภคของระดับกลาง-บน ยังไปได้เรื่อยๆ โดยเฉพาะระดับกลางที่เป็นมนุษย์เงินเดือนที่ยังมีการบริโภคขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และไม่ค่อยได้รับผลกระทบต่อปัจจัยการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากนัก

โดยที่การบริโภคครัวเรือนในช่วงที่เหลือของปีนี้และในปี 62 คาดว่ามีโอกาสเห็นการฟื้นตัวขึ้นได้เล็กน้อย หลังจากที่ภาครัฐเริ่มสนับุสนุนเม็ดเงินให้กับคนจน เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนระดับล่าง แม้ว่าภาวะราคาสินค้าเกษตรยังไม่ดีก็ตาม และในปี 62 ที่จะมีการเลือกตั้งในเดือนก.พ.62 จะทำให้การบริโภคสามารถกลับมาขยายตัวได้ และไต่ขึ้นไประดับจุดสูงสุดในช่วงไตรมาส 1/62 และหลังจากนั้นจะค่อยๆ ชะลอตัวลงมา ซึ่งปัจจัยที่ต้องติดตามที่สำคัญยังคงเป็นภาวะราคาสินค้าเกษตรจะมีทิศทางดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อการบริโภคของภาคครัวเรือนระดับล่างในปี 62

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในปี 62 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับปี 61 โดยที่ปัจจุบันค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาราว 1% แต่ยังถือว่าแข็งค่ากับประเทศคู่ค้าการส่งออกอื่นๆ เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่ค่าเงินของประเทศนั้นๆ อ่อนค่าลงมามากกว่าค่าเงินบาทของไทย และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาเป็นผลมาจากการที่ต่างชาติขายหุ้นไทยออกไปตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมูลค่ารวม 2.7 แสนล้านบาท ส่งผลต่อการอ่อนค่าของค่าเงินบาท

แต่ค่าเงินบาทของไทยยังถือว่ามีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับสกุลเงินในประเทศเกิดใหม่อื่นๆ และคาดว่าในปี 62 มีโอกาสที่กระแสเงินทุนจะไหลเข้ามาในประเทศอีกได้ เพราะประเทศไทยยังถือเป็นประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดี มีทุนสำรองระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง มีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล ทำให้แนวโน้มของกระแสเงินทุนที่จะไหลกลับเข้ามายังมีได้อีกในปี 62


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ