นายภัทรพงศ์ เทพา ผู้ช่วยผู้ช่วยผู้อาวุโส การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวในงานสัมมนา "วิจัยพลังงานสู่การใช้งานจริงอย่างยั่งยืน ปี 4" ภายใต้หัวข้อ "การพลิกโฉมไฟฟ้าไทย" ว่า ในอนาคตจะมีผู้ผลิตไฟฟ้ามากขึ้น และเกิดการซื้อขายกันเองด้วย ในรูปแบบการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ดิจิทัลมากขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบัน กฟผ.มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเหลือเพียง 35-36% จากกำลังการผลิตทั้งประเทศ โดยจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้ปัจจุบันเกิดสถานการณ์เทคโนโลยีนำนโยบายของประเทศไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม กฟผ.มีความกังวลว่าจะดำเนินการอย่างไรให้มีโรงไฟฟ้าที่จะตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าได้รวดเร็ว และถ้าพลังงานทดแทนมีมากขึ้นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และสายส่งจะไฟฟ้าจะดำเนินการให้ยืดหยุ่นได้อย่างไร และภาพรวมทางธุรกิจของ กฟผ.จะเป็นอย่างไร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมรองรับปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ยืนยันว่า กฟผ.มีหน้าที่ต้องดูแลความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ดังนั้นการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีไฟฟ้าจะต้องก้าวไปอย่างยั่งยืน สมดุลทั้งด้านราคาไฟฟ้าที่ต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และไฟฟ้าต้องมีความมั่นคงด้วย
ดังนั้น กฟผ. ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) จัดทำงานวิจัยและพัฒนา เพื่อนำมาช่วยในด้านโรงไฟฟ้าเก่าของ กฟผ.ให้สามารถยืดหยุ่น เร่งเครื่องผลิตไฟฟ้าในช่วงที่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่พลังงานทดแทนเข้ามามีบทบาทสำคัญ ทาง กฟผ.จึงริเริ่มนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำมาเป็นแบตเตอรี่สำรองในการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น
ด้านนายชาญณรงค์ สอนดิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA กล่าวว่า PEA ได้ปรับเปลี่ยนทิศทางการลงทุนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีไฟฟ้าแล้ว โดยจัดทำแผนงาน PEA DX ระหว่างปี 2561-2565 ภายในกรอบการลงทุน 29,087 ล้านบาท แบ่งเป็น การจัดทำดิจิทัลแพลตฟอร์ม 8,332 ล้านบาท, ยกระดับระบบไฟฟ้าให้เป็นเลิศด้วยดิจิทัล 15,226 ล้านบาท, ปรับเปลี่ยนสู่องค์กรสมัยใหม่ 4,185 ล้านบาท, เสริมสร้างบุคลากรแห่งอนาคต 504 ล้าบาท และเชื่อมโยงลูกค้าด้วยเทคโนโลยี 840 ล้านบาท
นอกจากนี้ 3 องค์กรด้านไฟฟ้า(PEA, กฟผ.และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน.) ยังมีความร่วมมือศึกษาการจัดทำแพลตฟอร์มกลางของประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันของผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยทั่วประเทศ
นายนิโรจน์ อัครปัญญาวิทย์ Vice President ฝ่ายเทคนิคพลังงานประบุกต์และเครื่องยนต์ทดสอบ บมจ.ปตท.(PTT) กล่าวว่า เมื่อต้นปี 2561 ปตท.ได้จัดตั้งหน่วยธุรกิจเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อวางกลยุทธ์ศึกษาต้นแบบธุรกิจใหม่ที่ช่วยเพิ่มมูลค่า ตลอดห่วงโซ่ธุรกิจไฟฟ้า ทั้งนี้ทิศทางวิจัยและพัฒนาของ ปตท.จะเน้น 3 E คือ 1. Environmental Friend หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2.Energy Management การวิจัยจัดการพลังงานให้มีต้นทุนที่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ และ 3. Energy Efficiency การเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
อย่างไรก็ตาม สถาบันนวัตกรรมของ ปตท.จะเลือกการพัฒนาหลัก 2 ด้านหลักคือ Energy Storage และ โซลาร์เซลล์ ซึ่งจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกผลิตภัณฑ์ทั้งอาคาร ภาคขนส่งและไฟฟ้า ซึ่งแนวโน้มจะมีการพัฒนาโซลาร์เซลล์เป็นวัสดุโปร่งแสงโค้งงอได้ ซึ่งอาจติดเป็นกระจกรถยนต์และสามารถชาร์จไฟฟ้ารถ EV ได้ด้วย
นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) กล่าวว่า กรณีที่ผู้บริโภคหันมาผลิตไฟฟ้าใช้เองและขายส่วนเกินให้กับเพื่อนบ้านนั้นเป็นทิศทางที่กำลังเกิดขึ้น และส่งผลให้ประเทศเกิดปัญหาความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ไม่เกินช่วงกลางวันแต่ไปเกิดช่วงกลางคืนแทน โดยไม่มีข้อมูลผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยกลุ่มดังกล่าว ซึ่งภาครัฐกำลังพยายามเก็บข้อมูลดังกล่าว ซึ่งเห็นว่าระบบบล็อกเชนจะมาแก้ปัญหาดังกล่าว ทำให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าเข้าระบบมากขึ้นและทราบจำนวน รวมทั้งปริมาณไฟฟ้าที่เกิดขึ้นกับกลุ่มดังกล่าวเพื่อนำมาเป็นข้อมูลวางแผนงานต่างของภาครัฐได้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ขอฝากนักวิจัยให้มองไปถึงอนาคตระยะยาวที่จะเกิดขยะอิเลคทรอนิคส์จำนวนมาก ซึ่งงานวิจัยจะเข้ามาแก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานกรรมการบริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) กล่าวว่า ปัจจุบัน Energy Storage ทั่วโลกมี 1,160 โครงการ รวม 193,594 เมกะวัตต์แล้ว และถือเป็นสิ่งที่จะมาตอบสนองการผลิตไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพได้ในอนาคต นอกจากนี้รัฐบาลควรส่งเสริมให้เกิดการผลิตรถ EV ขึ้นในไทย หากสามารถผลิต Energy Storage ได้เองก็ย่อมผลิตรถ EV ได้ทั้งคัน ซึ่งจะทำให้ไทยเติบโตด้านเทคโนโลยีรถ EV ได้รวดเร็ว
ปัจจุบันสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้นำด้านการผลิตและการใช้พลังงานหลัก ด้านก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของโลก เริ่มปรับตัวไปสู่พลังงานทดแทนและพลังงานนิวเคลียร์ ขณะรัฐบาลไทยมุ่งไปสู่ LNG ซึ่งเป็นที่น่าจับตามองงว่าประเทศไทยยังติดอยู่กับอะไรบางอย่าง ขณะที่ผู้ซื้อขายรายใหญ่เริ่มมีแนวทางจะออกห่างจาก LNG
นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ทิศทางรถ EV เกิดขึ้นแน่นอน แต่มีความเป็นห่วงผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยที่มีกว่า 3 หมื่นรายจะได้รับผลกระทบ ซึ่งหากรัฐจะผลักดันเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องคำนึงถึงกลุ่มธุรกิจดังกล่าวด้วย เพื่อให้เติบโตไปพร้อมกัน ทั้งนี้คาดว่ารถยนต์ EV จากจีนอาจจะเข้ามายังได้ในอีก 10-20 ปีข้างหน้าได้ ซึ่งยังมีเวลาที่ไทยจะเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ดังกล่าว
นายศุภชาติ จงไพบูลย์พัฒนะ ผู้ประสานงานโครงการร่วมสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา กฟผ-สกว. กล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้การใช้ไฟฟ้าจะเติบโตแบบเชื่อมโยงกับการเติบโตขึ้นของนวัตกรรมเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ซึ่งนักวิจัยจำเป็นต้องเดินตามกระแสโลกให้ทันและต้องคิดได้ก่อนที่เทคโนโลยีจะก้าวขึ้นมา ซึ่งการวิจัยจะปรับเปลี่ยนไปในรูปแบบการรวมตัวเป็นทีมแบบผสมผสานความสามารถ และต้องร่วมมือกับภาครัฐ และผู้ประกอบการที่ใช้งานนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยให้เกิดการนำผลวิจัยมาใช้ได้จริง
โดยทิศทางนวัตกรรมในอนาคตที่โดดเด่น คือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์), แบตเตอรี่สำรอง หรือ Energy Storage, บล็อกเชน หรือ Blockchain รวมถึงกรณีรถยนต์ไฟฟ้า(EV) ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีรถEV เริ่มวิจัยก้าวหน้าไปมาก โดยสำนัก Bloomberg NEF คาดการณ์ว่ารถEV ทั่วโลกจะมี 11 ล้านคันในปี ค.ศ.2025 และจะสูงถึง 30 ล้านคันในปี ค.ศ. 2030 จากปี ค.ศ.2017 ที่มีอยู่ 1.1 ล้านคัน
ทั้งนี้เทคโลยีการประจุไฟฟ้ารถ EV (ชาร์จ) มีการวิจัยทดลองใช้การชาร์จไฟฟ้าแบบ Wireless EV Charging ซึ่งเป็นการชาร์จแบบไร้สาย โดยในอนาคตอาจติด Wireless บนพื้นทางด่วน เพื่อขับรถผ่านจะเกิดการชาร์จอัตโนมัติ หรือ เพียงไปจอดใกล้ๆ ก็สามารถาชาร์จไฟฟ้าให้รถ EV ได้ทันที
นอกจากนี้ความเป็นเจ้าของรถยนต์จะหมดไป เนื่องจากเทคโนโลยีจะก้าวไปถึง รถยนต์EV ไร้คนขับ Driverless Cars ซึ่งจะมาทดแทนรถแท็กซี่ โดยใช้มือถือกดเรียกรถEVสาธารณะที่จอดไว้ เพื่อมาให้บริการได้ หรือเกิดระบบรถEV แบบ Hub car รถยนต์สาธารณะที่จอดไว้และประชาชนสามารถขับออกไปใช้ได้เลยในระยะทางไม่ไกล ซึ่งขณะนี้บริษัทค่ายรถยนต์บางแห่งเริ่มศึกษาระบบดังกล่าวเพื่อเตรียมปรับรูปแบบรองรับธุรกิจในอนาคตแล้ว
รวมทั้งโลกกำลังมีการวิจัย Hyperloop&Loop ซึ่งเป็นรถยนต์ที่วิ่งในอุโมงค์มีความเร็วกว่าเครื่องบิน ซึ่งไม่ต้องขับเอง มีแทนรองรับรถและขับเคลื่อนไปในอุโมงค์ด้วยความเร็ว 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้นไทยต้องเร่งพัฒนาทั้งด้าน Big Data และ Internet of Thing เพื่อให้ไทยหลุดพ้นจากประเทศผู้มีรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่หลุดพ้นจากความยากจนด้วยการการสร้างมูลค่าเพิ่มจากเทคโนโลยี