(เพิ่มเติม) รฟท.คาดเสนอส่วนต่อขยายสายสีแดง 3 เส้นทาง ลงทุนรวม 2.4 หมื่นลบ.เข้าครม.เดือนม.ค.62, เสนอ Missing Link เข้าบอร์ดธ.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 22, 2018 17:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า รฟท.ได้เสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อขอดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายโครงการระบบชานเมือง สายสีแดง มี 3 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.84 กม. มูลค่าลงทุน 6.5 พันล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. มูลค่าลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 8.7 กม.มูลค่าลงทุน 7.5 พันล้านบาท รวมมูลค่าลงทุนประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่ากระทรวงคมนาคมจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน ม.ค.62 หลังจากผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แล้ว ทั้งนี้หากผ่าน ครม.จะสามารถเปิดประมูลงานก่อสร้าง และคาดใช้เวลา 3 ปี สร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้ในปี 65

นอกจากนี้ รฟท.เตรียมนำเสนอโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง Missing Link สีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 4.4 หมื่นล้านบาท เข้าที่ประชุมคณะกรรมการ รฟท.ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้หลังจากนำมาปรับแบบเพื่อให้รองรับกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่จะใช้ฐานรากร่วมกันบริเวณจิตรลดา โดยงบลงทุนยังอยู่ในกรอบเดิม หากบอร์ดอนุมัติจะนำส่งกระทรวงคมนาคมและเสนอต่อ ครม.เพื่อรับทราบ ซึ่งก่อนหน้านี้ ครม.ได้อนุมัติแล้ว

นายวราวุฒิ กล่าวว่า โครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต มีกำหนดการเปิดให้บริการในเดือน ม.ค.64 โดยคาดว่าในช่วง 5 ปีแรกของการเดินรถจะมีปริมาณผู้โดยสาร 80,000 คน/วัน ทั้งนี้จะมีจำนวนรถไฟ 130 ตู้รองรับได้สูงสุด 200,000 คน/วัน ซึ่งจะทยอยเข้ามาจากญี่ปุ่นในเดือน ส.ค.62

ทั้งนี้ คาดว่า ช่วงบางซื่อ-รังสิตจะสร้างแล้วเสร็จในพ.ย.62 และวางระบบอาณัติสัญญาณ และระบบควบคุมการเดินรถได้เสร็จกลางปี 63 และใช้เวลาทดสอบทุกระบบพร้อมกันประมาณ 6 เดือน ก่อนจะเปิดให้บริการ

สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการในปัจจุบัน ณ วันที่ 25 ต.ค.61 มีความคืบหน้าตามสัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง ประกอบด้วย สถานีกลางบางซื่อ และสถานีจตุจักร ทางรถไฟยกระดับ ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าชานเมือง ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟทางไกล ตลอดจนถนนเลียบทางรถไฟและถนนทางข้าม มีความคืบหน้า 77.37%

สัญญาที่ 2 งานโยธาสำหรับรถไฟ ช่วงบางซื่อ-รังสิต ประกอบด้วย ทางรถไฟยกระดับและทางรถไฟยกระดับดิน 8 สถานี ถนนเลียบทางรถไฟ สะพานกลับรถ สัพานข้ามทางรถไฟ และระบบระบายน้ำ มีความคืบหน้า 99.44%

สัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล สำหรับรถไฟช่วงบางซื่อ-รังสิต มีความก้าวหน้าของงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 38.24%

สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต สามารถองรับการเดินทางระบบรางทุกประเภท ทั้งรถไฟชานเมือง รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟความเร็วสูงในอนาคต และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน นอกจากนี้ยังรองรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีชมพู สายสีเขียว ซึ่งจะเป็นการพลิกโฉมการเดินทางด้วยระบบรางของประเทศไทย และกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายวรวุฒิ กล่าวว่า ในการจัดเตรียมแผนการเดินรถไฟสายสีแดง ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานบริษัทเดินรถไฟสายสีแดงเพื่อให้คณะกรรมการ รฟท.เห็นชอบ และจะนำส่งให้กระทรวงคมนาคมหลังจากได้ข้อมูลชัดเจนแล้วว่าบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จะต้องยุบเลิกกิจการ หลังจากโอนการเดินรถแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ให้เอกชนผู้ชนะประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งจะโอนย้ายพนักงานราว 400 คนซึ่งมีความชำนาญในการเดินรถไฟอยู่แล้ว ก็จะทำให้ รฟท.ไม่มีความเสี่ยงเรื่องรับพนักงานใหม่ โดยอาจจะรับพนักงานใหม่ 300-400 คน ทั้งนี้ จะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพื่อขอจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อเดินรถไฟสายสีแดง และคาดจะนำเสนอ ครม.ได้ในเดือน ก.พ.62

ขณะเดียวกัน รฟท.จะเปิดประมูลโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ แปลง A มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะออก TOR ได้ในเดือน ม.ค.62 ส่วนการประมูลหาผู้บริหารสถานีกลางบางซื่อ คาดว่าจะสามารถออก TOR ได้ประมาณกลางปี 62


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ