ทริสคอร์ปอเรชั่นจับมือ 3 พันธมิตรสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้สถาบันคลังสมองของชาติและสถาบันที่ปรึกษาด้านการจัดการความรู้และนวัตกรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมลงนามความร่วมมือจัดตั้งเครือข่ายการจัดการความรู้ประเทศไทย(ThailandKnowledge Management Network : TKMN)เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการจัดการความรู้ยกระดับความคิดและนวัตกรรมให้กับองค์กรของไทยอันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมบนฐานความรู้ของประเทศต่อไป
นายไวฑูรย์ โภคาชัยพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคเกษตรและอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมการพัฒนาประเทศภายใต้โมเดล "ประเทศไทย 4.0" ไม่ใช่เฉพาะภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ทุกภาคส่วนต้องวางระบบและกำหนดแนวทางในการรองรับการจัดการความรู้เพื่อแบ่งปัน ยกระดับและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันขององค์กรไปจนถึงของประเทศให้มากยิ่งขึ้น โดยวันนี้ (22 พ.ย.2561) เครือข่ายการจัดการความรู้ประเทศไทยที่ 4 องค์กรพันธมิตรร่วมกันจัดตั้งขึ้นนั้น จะเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาองค์ความรู้ในระดับองค์กรให้สนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณค่าต่อองค์กรและประเทศไทยในภาพรวมได้เป็นอย่างดี
นายอธิปัตย์ บำรุง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน) (OKMD) เปิดเผยว่าความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ การพัฒนาองค์กร และการบริหารทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรต่างๆ ในประเทศไทย เพื่อร่วมแบ่งปัน ยกระดับ และพัฒนาความสามารถด้านการจัดการความรู้ขององค์กร และความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนการพัฒนาสู่เศรษฐกิจฐานความรู้และความยั่งยืนของประเทศ
รศ.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการ สถาบันคลังสมองของชาติ (KNIT) เปิดเผยว่า ความร่วมมือกันของ 4 องค์กรซึ่งถือเป็นกลุ่มสมาชิกหลักมีบทบาทในการกำหนดวิสัยทัศน์ทิศทางและวัตถุประสงค์โครงสร้างและหน้าที่รวมทั้งรูปแบบการดำเนินการของเครือข่ายรวมไปถึงการขยายฐานสมาชิกและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรเครือข่ายและสมาชิกซึ่งทาง KNIT มีความพร้อมใน การสนับสนุนส่งเสริมให้เครือข่ายการจัดการความรู้ประเทศไทยสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พลังเครือข่ายจากสถาบันอุดมศึกษาของประเทศ
Dr. Vincent Ribiere กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง สถาบันที่ปรึกษาด้านการจัดการความรู้และนวัตกรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (IKI-SEA) เปิดเผยว่าทั้ง 4 องค์กรได้ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของการพัฒนาความรู้ความเข้าใจและส่งเสริมการใช้กระบวนการของการจัดการความรู้โดย IKI-SEA จะมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงกับเครือข่ายการจัดการความรู้นานาชาติ เพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ มุมมองพัฒนาสร้างความเข็มแข็งในการจัดการความรู้ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาองค์กรและประเทศไทย