น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวในงานเสวนาวิชาการ เรื่อง"กลยุทธ์ 5G สำหรับประเทศไทย" ว่า รัฐบาลประกาศเป้าหมายในการให้ประเทศไทยใช้ 5G ในเชิงพาณิชย์ในปี 63 ขั้นตอนที่สำคัญคือการทดสอบทดลองใช้งานจึงจำเป็นที่ต้องทดลองเพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้งาน รัฐบาลจึงเอา 5G มาผนวกกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยจะทดสอบในพื้นที่ EEC ที่อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี การจะเกิด 5G ได้ต้องมีความพร้อม ประโยชน์ของ5G น่าจะเกิดกับภาคอุตสาหกรรมก่อนผู้ใช้งานทั่วไป
การมาของ 5G จะต้องมีการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation ) และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคม ปัญหาของ 5G อย่างหนึ่งคือการลงทุนทำเครือข่ายที่มีการศึกษาพบว่าต้องมีการลงทุนปรับปรุงโครงข่ายที่มากกว่า 4G ร้อยละ 60-300 สิ่งสำคัญที่สุดกฏระเบียบที่จะต้องเอื้ออำนวยโดยเฉพาะแผนการใช้คลื่นความถี่ หลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่นที่กสทช.ต้องพิจารณา
ขณะนี้องค์กรด้านโทรคมนาคมอย่างสหภาพโทรคมนาคม(ITU) กำลังสรุปมาตรฐาน 5G ที่จะนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ ประเทศไทยเปิดรับเทคโนโลยีทุกค่ายโดยจะดูว่าค่ายไหนจะเหมาะสมที่สุด กระทรวงฯ คาดว่าปี 63 กิจกรรมการทดสอบจะเกิดขึ้นโดยจะทดสอบเพื่อให้ได้ประสบการณ์จากสิ่งแวดล้อมในการใช้งานจริงเพื่อไม่ให้เกิดบริการที่ผิดพลาด
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.)กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการให้บริการ 5G กระบวนการที่สำคัญคือการจัดสรรคลื่น โดยกระบวนการที่ต้องทำคือการออกแบบตลาดของ 5G ว่าจะมีโครงสร้างอย่างไรเพื่อให้การจัดสรรคลื่นเกิดการนำมาใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ และเอกชนจะได้รู้ว่าควรลงทุนอย่างไร กสทช.ได้เตรียมเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำมาจัดสรรเพื่อให้บริการ 5G ทั้งคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 700 เมกะเฮิรตซ์ ตนไม่อยากให้มองแต่เรื่องการมาของ 5G อย่างเดียว แต่อยากชวนให้คิดว่าจะมีบริการหรือเทคโนโลยีอะไรบ้างที่จะมาวิ่งบนโครงข่าย 5G
การสร้างระบบนิเวศน์ทางดิจิทัลให้สำเร็จคือสิ่งสำคัญที่สุด การประมูลคลื่นมูลค่าสูง หรือการลงทุนมากไม่ใช่ความสำเร็จของ 5G แต่คือ การใช้ประโยชน์จาก 5G ถ้ารัฐอยากให้ 5G ประสบความสำเร็จ ทั้งรัฐและเอกชนต้องมาใช้งาน ภาคส่วนอื่นก็ต้องมาใช้ประโยชน์ ที่ลืมไม่ได้คือการสร้างภูมิคุ้ม กันเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ด้วย
"อย่าคาดหวังว่าการขับเคลื่อน 5G เป็นหน้าที่ของกสทช.ฝ่ายเดียว เพราะหากไม่สามารถจัดสรรได้อย่างเหมาะสม กสทช.จะกลายเป็นอุปสรรค กสทช.พยายามที่จะช่วยให้การขับเคลื่อน 5G เดินหน้าไปได้ กสทช.คาดว่าเมื่อมีการให้บริการ 5G ในเชิงพาณิชย์ กสทช.คาดว่า 4G กับ 5G จะให้บริการควบคู่กันไปอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นการวางแผนที่เหมาะสมจึงมีความจำเป็น"นายประวิทย์ กล่าว
นายเจษฎา ศิวรักษ์ หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยี 5G จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลใหม่ของประเทศไทย ด้วยปริมาณข้อมูลที่มากขึ้นความต้องการบริโภคข้อมูลที่มากขึ้น ทำให้ผู้ให้บริการสื่อสารต้องอัพเดทเครือข่ายและเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเพื่อรองรับความต้องการนี้
อีริคสันคาดว่าเมื่อประเทศไทยเข้าสู่เทคโนโลยี 5G ในเชิงพาณิชย์มูลค่าตลาด 5G ของไทยมีมูลค่าสูงถึง 180,000 ล้านบาท ตลาดประกอบด้วย 3 ส่วนคือ การนำเทคโนโลยีไปใช้ การลงทุนเครือข่าย และการสร้างบริการใหม่ อีริคสันมองว่า 5G เป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม โดยภาคอุตสาหกรรม 3 ด้านได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต, พลังงาน และอุตสาหกรรมด้านความปลอดภัยสาธารณะจะเป็นอุตสาหกรรมที่เอา 5G ก่อนและใช้มากที่สุด 5G จะทำให้ Edge Computing หรือการประมวลผลและสั่งงานไปที่ตัวอุปกรณ์จะเติบโตเพิ่มขึ้น ด้วยความสามารถของ 5G ที่มีความเร็วมากขึ้นจะการประมวลผลของระบบทำได้ดีขึ้น ลดการใช้พลังงาน
การจะทำให้ 5G เกิดขึ้นในประเทศไทยได้จริงต้องประกอบด้วยปัจจัย 3 ส่วนคือ คือ การเลือกย่านความถี่ที่ถูกต้องเหมาะสม 5G เป็นเรื่องของการใช้งานหลายย่านความถี่ หลายเทคโนโลยี ผู้ให้บริการต้องมีคลื่นความถี่ ผสมกัน โดยต้องมีย่านความถี่ต่ำไม่น้อยกว่า 10 เมกกะเฮิรตซ์ ความถี่ย่านกลางต้องมีคลื่นความถี่ไม่ต่ำกว่า 100 เมกะเฮิรตซ์ และย่านไฮแบนด์ โดยผู้ให้บริการต้องมีคลื่นความถี่ไม่น้อยกว่า 1 กิกะเฮิรตซ์ , การทดสอบการให้บริการ 5G ที่ต้องทดสอบให้เห็นว่าเอาไปใช้งานอย่างไร และความร่วมมือกับผู้ประกอบการที่จะนำเทคโนโลยี 5G ไปใช้ต่อยอดในการทำธุรกิจ
ประเด็นสำคัญที่สุดคือ 5G เป็นเทคโนโลยีที่จะทำให้ทุกบริการที่เป็นบริการดิจิทัลที่ใช้ทรัพยากรต่างกันอยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกันได้ สุดท้ายจะต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์ของ กสทช.หรือองค์กรกำกับดูแลจะต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลใหม่ มีการวิเคราะห์และกำหนดทิศทางที่เหมาะสม