รมว.คลัง แนะ ธปท.เร่งลดแรงกดดันจากผู้ส่งออก-ในปท.ที่ทำบาทแข็งค่าเร็ว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 11, 2008 12:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะต้องจับตาใกล้ชิดความเคลื่อนไหวของเงินบาทในระยะนี้ที่แข็งค่าขึ้นเร็วและแรงกว่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นการเก็งกำไรของผู้ส่งออกและกลุ่มผู้ที่มีรายได้เป็นเงินดอลลาร์เพื่อลดความเสี่ยงของตัวเอง แต่กลับกลายเป็นแรงกดดันต่อค่าเงินบาท  
"ถ้าหากตัดในเรื่องการเก็งกำไรออกไป การบริหารอัตราแลกเปลี่ยนก็จะทำได้ง่ายขึ้น...ข้างนอกมีการเก็งกำไรน้อยกว่า ของเรามีการเก็งกำไรมาก คนที่มีรายได้เป็นดอลลาร์ ก็ต้องทำอะไรเพื่อปกป้องความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เป็นกลไกที่ปกป้องตัวเอง ซึ่งก็ไม่ใช่การเก็งกำไรที่ผิดกฎหมาย"นายฉลองภพ กล่าวภายหลังการหารือระหว่างทีมเศรษฐกิจกับนายกรัฐมนตรีช่วงเช้าวันนี้
รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในระหว่างการหารือวันนี้ ธปท.ได้รายงานสถานการณ์ค่าเงินบาทให้กับที่ประชุมได้รับทราบ ซึ่งที่ผ่านมาค่าเงินเปลี่ยนแปลงมาก และพบว่ามีการเก็งกำไร รัฐบาลจึงสนับสนุนธปท.อย่างเต็มที่ในการดูแลไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนและไม่ให้มีการเก็งกำไรเกิดขึ้นมาก เพราะหากเก็งกำไรมากก็จะทำให้การดูแลทำได้ยาก
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 51 พบว่าบางช่วงมีการซื้อขายในลักษณะการเก็งกำไรค่อนข้างมาก ทำให้บาทแข็งค่าเร็วและแรง ซึ่งธปท.เองก็ได้เข้าแทรกแซงมาโดยตลอด รัฐบาลอยากเห็นเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน ธปท.จำเป็นต้องชี้แจงกับภาคเอกชนให้เข้าใจเพื่อไม่ให้มีการกระทำที่ทำให้เกิดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท ซึ่งทำให้เงินบาทผันผวน ในขณะที่เงินจากต่างประเทศก็ยังไหลเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง
"เงินสกุลหลักเชื่อว่าในสัปดาห์นี้ยังนิ่ง ๆ แต่ของเราก็ยังแข็งค่าอยู่ เงินจากต่างประเทศก็เข้ามาเรื่อย ๆ ดอลลาร์ก็อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเยนและยูโร แต่บาทยังไม่ค่อยเกาะกลุ่มกับเงินสกุลหลักและประเทศเพื่อนบ้าน เราต้องพยายามลดแรงกดดัน เพื่อให้ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนได้ง่ายขึ้น เพราะเงินบาทแข็งค่าเกินไป ไม่เกาะกลุ่มเพื่อนบ้าน เราอยากเห็นค่าเงินบาทเกาะกลุ่ม"นายฉลองภพ กล่าว
สำหรับมาตรการที่จะใช้ดูแลสถานการณ์ค่าเงินบาทในขณะนี้จะพิจารณาจากเครื่องมือต่าง ๆ ที่มีอยู่ และหากทางตัดปัจจัยด้านจิตวิทยาที่ทำให้มีการเก็งกำไรค่าเงินบาท แต่เชื่อว่าหลังจากมี พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะฉบับใหม่ ก็จะช่วยให้ภาครัฐสามารถปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศและดูแลอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น โดยสามารถออกพันธบัตรเพื่อนำเงินไปลงทุนต่งประเทศได้ ก็จะสามารถลดความผันผวนนอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทได้
ด้านนักบริหารเงิน เปิดเผยว่า ขณะนี้ค่าเงินบาทยังทรงตัวแข็งค่าในระดับ 33.14/18 บาท/ดอลลาร์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ