นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ในเดือน พ.ย.61 ได้อนุญาตให้คนต่างด้าว 23 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์ ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 262 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 150 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
ทั้งนี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลงจากเดือนก่อน (ต.ค.61) 9 ราย คิดเป็น 28% ในขณะที่เงินลงทุนลดลง 1,429 ล้านบาท คิดเป็น 85% เนื่องจากเดือนตุลาคม 2561 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง คือ บริการให้กู้ยืมเงิน บริการรับค้ำประกันหนี้ และบริการออกแบบทางด้านวิศวกรรม จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้งและทดสอบเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น
สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่ 1. ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 11 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 167 ล้านบาท คือ บริการให้กู้ยืมเงิน บริการด้านการบริหารจัดการ ติดต่อประสานงาน และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขาย และขนส่งปิโตรเลียม บริการด้านการรับ-ส่งวัตถุดิบ เคมีภัณฑ์ บริการติดตั้ง ซ่อมแซมและบำรุงรักษา เครื่องมือแพทย์ บริการให้เช่าพื้นที่อาคารโรงงานบางส่วน พร้อมทั้งสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น ลักเซมเบิร์ก และหมู่เกาะเคย์แมน
2. ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 8 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 38 ล้านบาท ได้แก่ บริการตรวจสอบและออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ บริหารจัดการและแก้ไขปัญหาทางด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภายในองค์กร บริการรับจ้างผลิตเคมีภัณฑ์ประเภทต่างๆ บริการชุบเคลือบลูกสูบ บริการติดตั้ง ทดสอบการทำงาน ซ่อมแซมบำรุงรักษา และปรับปรุงแก้ไขระบบผลิตและจ่ายไฟฟ้ากำลัง ให้เช่าถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงบริการให้เช่าช่วงพื้นที่โกดังจัดเก็บสินค้า โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง และ สหราชอาณาจักร
3. ธุรกิจนายหน้า/ค้าปลีก จำนวน 4 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 57 ล้านบาท ได้แก่ นายหน้าจำหน่ายห้องเลเซอร์ เครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือ ชิ้นส่วน และซอฟต์แวร์สำหรับการเชื่อม ตัดและขึ้นรูปโลหะ การค้าปลีกเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่ใช้ในงานขุดเจาะและงานก่อสร้าง การค้าปลีกเครื่องจักรสำหรับใช้ในการขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์พลาสติก เครื่องจักรผนึกบรรจุภัณฑ์ เครื่องจักรสำหรับบรรจุด้วยระบบสุญญากาศ การค้าปลีกแม่พิมพ์ และอุปกรณ์จับยึดชิ้นงานที่ใช้ผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และตัวอย่างชิ้นงานที่ขึ้นรูปแล้ว โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์ สมาพันธรัฐสวิส และญี่ปุ่น
นายวุฒิไกร กล่าวว่า การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้ จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้การพัฒนาสารหล่อเย็นสำหรับเครื่องยนต์ ชนิด Inorganic Additive Technology องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการพิมพ์หมึก Evoglide บนผิวลูกสูบ องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี การผลิต และการติดตั้ง ซ่อมแซมบำรุงรักษาระบบผลิตและส่งจ่ายไฟฟ้ากำลัง (electrical power supply system) องค์ความรู้เกี่ยวกับเครื่องจักรในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์การแพทย์ (MCP Training) องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการติดตั้ง ทดสอบ ปรับปรุงซ่อมแซมและบำรุงรักษาของเครื่องจักร อุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีและชิ้นส่วนสำหรับการขึ้นรูปโลหะ เป็นต้น
อนึ่งในเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2561 คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาต จำนวน 252 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 10,733 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรากฏว่า จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลง 10 ราย คิดเป็น 4% ขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 3,631 ล้านบาท คิดเป็น 51% เนื่องจากในปี 61 มีต่างชาติลงทุนประกอบธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง อาทิ บริการออกแบบทางวิศวกรรมและติดตั้งเหล็กโครงสร้างรูปพรรณและผลิตภัณฑ์คอนกรีต บริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ เป็นต้น