(เพิ่มเติม) ครม.ไฟเขียวโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ กทม.ก่อนเปิดทดลองเดินรถช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 26, 2018 18:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต (ไม่รวมอาคารจอดแล้วจร) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ตาม พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 มาตรา 75 (5) ซึ่งใช้ข้อมูลทางการเงินของโครงการฯ ณ วันที่ 30 ก.ย.61 และข้อมูลประมาณการทางการเงิน ณ วันที่ 31 มี.ค.62 เป็นข้อมูลอ้างอิง เพื่อดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การมอบหมายให้ กทม. เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใน 2 ช่วงดังกล่าว

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคตดังกล่าว จะทำให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นเอกภาพมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกรณี รฟม. เป็นหน่วยงานบริหารจัดการ เนื่องจากปัจจุบัน กทม. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการบริหารจัดการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-แบริ่ง โดยมี บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) เป็นผู้รับสัมปทานการเดินรถในเส้นทางดังกล่าว ทั้งนี้ เมื่อมีการจำหน่ายทรัพย์สินในครั้งนี้แล้ว กทม. จะรับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตั้งแต่ช่วงคูคต-สมุทรปราการ รวมทั้งสิ้น 47 สถานี ระยะทาง 55.95 กิโลเมตร

"เจตนารมย์คือ เพื่อให้ กทม.สามารถบริหารจัดการการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้ง 2 ช่วงได้อย่างเป็นระบบ และข้อตกลงต่างๆ เช่น การโอนสิทธิ์ การโอนกรรมสิทธิ์ ภาระผูกพันของหน่วยงาน บุคคลอื่นๆ ค่าแรกเข้าระบบต่างๆ ก็ให้ กทม.เป็นผู้รับโอนทั้งสิ้น โดยจะมีการยกเว้นเพียง 1 เรื่อง คือ อาคารจอดแล้วจร (Park and Ride) ซึ่งในส่วนของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว จะมีพื้นที่จอดแล้วจร 3 แห่ง โดยกระทรวงคมนาคมได้ชี้แจงสาเหตุของการไม่โอนอาคารจอดแล้วจรให้ กทม. เนื่องจากปัจจุบัน รฟม. และกระทรวงคมนาคม ได้มีการบริหารพื้นที่จอดแล้วจร รวมทั้งหมด 11 แห่ง ดังนั้นจึงต้องการให้การบริหารจัดการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน" นายพุทธิพงษ์ระบุ

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังรับทราบการกู้เงินเพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การกู้เงินเพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สิน และหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ พ.ศ. 2561 ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ รวมทั้งให้กรุงเทพมหานครดำเนินการอย่างโปร่งใส คุ้มค่าและประหยัด โดยพิจารณาเป้าหมาย ประโยชน์ที่จะได้รับ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ ตามนัย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

ทั้งนี้ การดำเนินการโอนทรัพย์สินและหนี้สิน จะทำให้กรุงเทพมหานครมีภาระค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 51,785.37 ล้านบาท (ประกอบด้วย ค่างานโครงสร้างพื้นฐาน วงเงินไม่เกิน 44,429 ล้านบาท และค่าชดใช้เงินค่าจัดกรรมสิทธิ์และดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมเงินกู้ของค่างานโครงสร้างพื้นฐานที่สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณเพื่อชำระไปแล้ว วงเงินไม่เกิน 7,356.37 ล้านบาท)

อนึ่ง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ มีความพร้อมและจะเปิดให้บริการเดินรถ ในวันที่ 6 ธันวาคม 2561 ส่วนช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2562

นายพุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เร่งให้ รฟม. ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในการจัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในบริเวณใกล้เคียงกันแนวรถไฟฟ้าในทุกเส้น

"มีแนวคิดจะปรับ park and ride ทำให้พื้นที่ของอาคารดังกล่าวในด้านบน พัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ได้มีโอกาสอยู่อาศัยใกล้แนวรถไฟฟ้า นี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่ รฟม. และกระทรวงคมนาคม ยังไม่ได้มอบพื้นที่ในส่วนของอาคารจอดแล้วจรให้แก่ กทม." นายพุทธิพงษ์กล่าว

ด้านนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ในการเปิดเดินรถวันที่ 6 ธันวาคมนี้ จะเป็นการทดสอบระบบ โดยยังไม่เก็บค่าโดยสาร โดยได้เจรจากับกทม. แล้ว จะเริ่มเก็บค่าโดยสารช่วงหลังสงกรานต์ 2562 โดยรฟม.ได้จัดทำสรุปค่าใช้จ่ายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ณ วันที่ 30 กันยายน 2561 มูลค่ารวม 63,927 ล้านบาท โดยมีวงเงินเบิกจ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่รฟม.ชำระไปแล้วโดยใช้เงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรและรายได้ของ รฟม. เป็นจำนวนเงิน 7,992.18 ล้านบาท และมีวงเงินประมาณการที่ต้องชำระเพิ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561-31 มีนาคม 2562 ประมาณ 482.68 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการร่างข้อบังคับของ รฟม. ว่าด้วยอัตราค่าบริการจอดรถยนต์และวิธีการจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ พ.ศ. .... อัตราค่าบริการเริ่มต้นสำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า เริ่มต้นที่ 10 บาท/2 ชั่วโมง สำหรับประชาชนทั่วไปซึ่งไม่ได้ใช้บริการรถไฟฟ้า เริ่มต้นที่ 20 บาท/ชั่วโมง สำหรับผู้ใช้บริการจอดรถยนต์รายเดือน เริ่มต้นที่ 1,000 บาท/เดือน และอัตราค่าบริการจอดรถจักรยานยนต์ เริ่มต้นที่ 10 บาท/4 ชั่วโมง

รมช.คมนาคม กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบร่างข้อบังคับ รฟม.ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม วิธีการจัดเก็บค่าโดยสารร่วม และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารร่วม ระหว่างรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง ช่วงบางไผ่-เตาปูน) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน พ.ศ. .... เนื่องจาก ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 ให้ความเห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสารและการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน พ.ศ. .... และให้ใช้อัตราค่าโดยสารใหม่สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.61 เป็นต้นไป

โดยจะเป็นการประกาศอัตราค่าโดยสารร่วมของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่จะเปิดให้บริการบางส่วนในปี 2562 และค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งไม่มีค่าแรกเข้ากรณีใช้ 2 ระบบต่อเนื่องกัน โดยอัตราค่าโดยสารสูงสุดจะไม่เกิน 70 บาท ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ จะมีการปรับอัตราค่าโดยสาร 1 บาท ในสถานีที่ 5, 8, 11 ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.61


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ