นับตั้งแต่ที่บริษัท โบอิ้ง ประกาศเลื่อนการทดสอบบินและกำหนดส่งมอบเครื่องบินรุ่น 787 ออกไปจากกำหนดการณ์เดิมอีก 6 เดือนนั้น มีนักสังเกตุการณ์อุตสาหกรรมเพียงไม่กี่รายที่เชื่อมั่นว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตเครื่องบินรายนี้จะสามารถทำตามเป้าหมายใหม่ได้ทัน
นอกจากคาดการณ์ที่ว่า จะมีความล่าช้าออกไปอีก นักวิเคราะห์เป็นห่วงมากขึ้นในประเด็นที่ว่า บริษัทจะสามารถผลิตเครื่องบินได้ในอัตราที่เคยให้คำมั่นไว้ได้หรือไม่ โดยตามแผนการณ์เดิม โบอิ้งจะทดสอบบินเครื่องรุ่น 787 เมื่อเดือนสิงหาคมหรือกันยายนปีที่แล้ว และพร้อมส่งมอบลูกค้าเดือนพฤษภาคมนี้ ขณะนี้ โบอิ้ง คาดหวังว่าจะทดสอบเครื่องบินได้ในช่วงปลายเดือนมีนาคม และทันส่งมอบให้สายการบิน ออล นิปปอน แอร์เวยส์ ภายในสิ้นปีนี้
ร็อบ สปินการ์น นักวิเคราะห์กล่าวในบทวิจัยของเครดิต สวิส ว่า เป้าหมายในการส่งมอบเครื่องบิน 109 ลำของโบอิ้ง ภายในสิ้นปีหน้าเป็นเป้าหมายที่เต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน แต่เราคิดว่า น่าจะดีเลย์ออกไป 1 ปีหรือมากกว่านั้น
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า หุ้นของโบอิ้ง รูดลงไปแล้วกว่า 20% จากระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ราคาล่าสุดของโบอิ้งอยู่ที่ 82.36 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
จนถึงขณะนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า โบอิ้ง ดูเหมือนจะรับมือกับปัญหาการผลิตเครื่องบิน 787 ได้ดีกว่าคู่แข่งอย่างแอร์บัส เอสเอเอส ที่ต้องแก้ปัญหาเครื่องบินยักษ์ซูเปอร์จัมโบ้ A380 ซึ่งส่งมอบล่าช้าถึงเกือบ 2 ปี
ไฮดี้ วู้ด นักวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนลีย์ กล่าวในบทวิจัยว่า โบอิ้งน่าจะเริ่มทดสอบบินได้ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะส่งผลให้เที่ยวบินแรกเริ่มให้บริการได้ราวเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม ซึ่งล่าช้าออกไป 1-2 เดือนจากกำหนดการล่าสุดของโบอิ้ง เพราะต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการทดสอบเครื่องบินภาคพื้นดินหลายพันครั้ง
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ฤดี ภวสิริพร/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--