สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ต.ค.61 ขยายตัว 4.08%, 10 เดือน ขยายตัว 3.04%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 27, 2018 11:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ในเดือนต.ค. 61 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) อยู่ที่ 112.79 ขยายตัว 4.08% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 1.55% จากเดือนก.ย. 61 ส่งผล 10 เดือนแรกของปี 61 (ม.ค.-ต.ค.) MPI ขยายตัว 3.04% อัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ 67.75%

สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกในเดือนต.ค.61 ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ บุหรี่ น้ำตาลทราย น้ำมันปิโตรเลียม และเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน

อุตสาหกรรมรถยนต์และเครื่องยนต์ ขยายตัว 16.73% เกือยทุกรายการสินค้าโดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล รถบรรทุกปิคอัพ และรถยนต์นั่งขนาดกลาง ตามการขยายตัวของตลาดในประเทศเป็นหลัก จากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่

บุหรี่ ขยายตัว 434.61% จากฐานต่ำในปีก่อนที่เริ่มต้นบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ส่งผลให้ราคาบุหรี่ในตลาดมีความผันผวนกระทบคำสั่งซื้อโรงงานยาสูบจึงหยุดผลิตเป็นเวลา 2 สัปดาห์

น้ำตาลทราย ขยายตัว 145.09% จากผลผลิตอ้อยที่มีมากกว่าปกติ ทำให้โรงงานปิดหีบช้ากว่าปีก่อน จึงยังมีการแปรสภาพน้ำตาลทรายดิบเป็นน้ำตาลทรายขาว

น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัว 9.84% จากน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 น้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซินออกเทน 91 เป็นหลักตามความต้องการใช้น้ำมันเพื่อการคมนาคมและการขนส่งในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง

เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน ขยายตัว 18.54% ตามการขยายตัวของตลาดในประเทศจากการทำกิจกรรมทางการตลาดเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจและเพิ่มยอดขายของผู้ผลิตและการส่งออกยังคงเป็นคำสั่งซื้อจากตลาดญี่ปุ่น เป็นหลัก รวมถึงคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากลูกค้าแอฟริกา และอินโดนีเซีย

สำหรับแนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมสำคัญในปี 2562 เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะมีการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.5% เมื่อเทียบกับปีเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มขึ้นและตามความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมรถยนต์ คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,200,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.76% เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศจะขยายตัว จากการใช้จ่ายของภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนที่จะขยายตัวดีขึ้น อันเนื่องจากเกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากเสถียรภาพทางการเมือง ประกอบกับการลงทุนของภาครัฐอย่างต่อเนื่องและการส่งออก มีแนวโน้มขยายตัวตามอุปสงค์โลก อย่างไรก็ตามยังต้องคำนึงถึงผลของสงครามการค้า สหรัฐ-จีน ด้วย

อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.5% จากปัจจัยบวกอย่างเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวระดับใกล้เคียงปีก่อน ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าด้วยทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐอเมริกา ปี 2562 ประกอบกับแนวโน้มราคาส่งออกสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าว น้ำตาลทราย แป้งมันสำปะหลัง และสับปะรดกระป๋อง รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของสินค้าสำคัญ เช่น ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่แปรรูป และทูน่ากระป๋อง นอกจากนี้ คาดว่าสินค้าสำคัญอีกรายการที่จะกลับมาขยายตัว คือ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง

อุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าการผลิตเส้นใยสิ่งทอจะขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2561 โดยเฉพาะเส้นใยสังเคราะห์ และเส้นใยสมบัติพิเศษ

อุตสาหกรรมเหล็ก คาดว่าการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับเพิ่มขึ้นทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวและกลุ่มเหล็กทรงแบน จากคำสั่งซื้อที่ปรับเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ผลจาก การก่อสร้างที่ขยายตัวตามแรงสนับสนุนของภาครัฐ และการขยายตัวของการก่อสร้างที่อยู่อาศัยของภาคเอกชน โดยเฉพาะการก่อสร้างที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ