บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตธนาคารรัฐ 5 แห่งของประเทศไทย ดังนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (BAAC) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (GH BANK) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IBANK) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK)
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต อันดับเครดิตของธนาคารรัฐสะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารแต่ละแห่งในกรณีที่มีความจำเป็น
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ (Issuer Default Ratings หรือ IDRs) และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ EXIM อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของรัฐบาลไทย (BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ/F2) อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ BAAC EXIM GH BANK และ SME BANK ที่ ‘AAA(tha)’ เป็นอันดับเครดิตที่สูงที่สุดสำหรับอันดับเครดิตภายในประเทศ ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมาจากความใกล้ชิดกับรัฐบาล สถานะทางกฎหมายซึ่งเป็นธนาคารรัฐ การที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดในแต่ละธนาคาร และการได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีต ซึ่งรวมถึง การชดเชยทางการเงินจากการดำเนินงานตามนโยบายรัฐ (หรือ deficiency guarantee) และการให้ค้ำประกันเงินกู้ยืมโดยกระทรวงการคลัง
ฟิทช์คาดว่ารัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารรัฐได้อย่างทันท่วงทีในกรณีที่มีความจำเป็น แต่อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของ BAAC EXIM และ GH BANK ที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่ดี จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ในส่วนของ SME BANK ซึ่งมีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอและเป็นเหตุให้ธนาคารต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการของรัฐบาล แต่ธนาคารได้ออกจากแผนฟื้นฟูฯดังกล่าวแล้วเมื่อเดือนมกราคม 2561 โดยอัตราส่วนทางการเงินในด้านต่างๆ ที่สำคัญของธนาคารมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น ด้านคุณภาพสินทรัพย์ ด้านสภาพคล่อง และด้านเงินกองทุน แต่อย่างไรก็ตามฐานะทางการเงินโดยรวมของ SME BANK ยังคงอยู่ในระดับที่ด้อยกว่า BAAC EXIM และ GH BANK
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ IBANK อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย 2 อันดับ ในขณะที่อันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารอยู่ที่ ‘AA(tha)’ ทั้งนี้อันดับเครดิตของธนาคารที่ต่ำกว่านั้นสะท้อนถึงบทบาทเชิงนโยบายของธนาคารที่มีความยั่งยืนและมีความสำคัญในระดับที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารรัฐอื่น นอกจากนี้ความแตกต่างในอันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงการที่พระราชบัญญัติจัดตั้งธนาคารมีการจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นโดยตรงของกระทรวงการคลังไว้ที่ 49% แม้ต่อมากระทรวงการคลังได้ยกเลิกข้อจำกัดดังกล่าวเป็นการชั่วคราวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการ อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่ากระทรวงการคลังและรัฐบาลมีความตั้งใจไม่มากนักที่จะรักษาการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) ของ IBANK ในระยะยาว และในช่วงปีก่อนๆ ได้มีการพยายามสรรหาพันธมิตรที่จะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหม่ ทั้งนี้ความชัดเจนต่างๆ น่าจะมีมากขึ้น หลังจากที่ IBANK สามารถออกจากแผนการฟื้นฟูกิจการได้
ฐานะทางการเงินของ IBANK ยังคงอ่อนแอกว่าธนาคารรัฐอื่นและธนาคารยังคงอยู่ระหว่างการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการของรัฐบาล ทั้งนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา IBANK มีการโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจำนวนมากไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐบาล และรัฐบาลยังได้เพิ่มทุนจำนวน 1.81 หมื่นล้านบาทให้กับธนาคารในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ความช่วยเหลือจากภาครัฐดังกล่าว สนับสนุนความเห็นของฟิทช์ที่เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ภาครัฐจะให้การสนับสนุนแก่ IBANK แม้ระดับของโอกาสในการสนับสนุนนั้นอาจจะไม่สูงเท่ากับธนาคารรัฐอื่น
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต การเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยอาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ของ EXIM และ IBANK รวมทั้งอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ EXIM ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยไม่น่าจะส่งกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ BAAC EXIM GH BANK และ SME BANK เนื่องจากความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลน่าจะยังคงเป็นระดับต่ำที่สุดในประเทศ แต่อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตภายในประเทศของ IBANK อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตของประเทศไทย ในกรณีที่ฟิทช์ต้องทำการทบทวนระดับความแตกต่างของโครงสร้างความเสี่ยงของบริษัทและสถาบันการเงินรายอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ เทียบกับระดับความเสี่ยงของประเทศไทย
อันดับเครดิตภายในประเทศของ BAAC EXIM GH BANK และ SME BANK ไม่มีโอกาสที่จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตเนื่องจากอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารเหล่านี้เป็นอันดับเครดิตที่อยู่ในระดับสูงสุด
ฟิทช์อาจทำการปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารรัฐทั้ง 5 แห่งหากรัฐบาลปรับลดโอกาสที่จะให้การช่วยเหลือสนับสนุนแก่ธนาคาร ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจเกิดขึ้นหากรัฐบาลลดสัดส่วนการถือหุ้นลงอย่างมีนัยสำคัญหรือมีการเปลี่ยนแปลงสถานะทางกฎหมายของธนาคาร อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง โดยเฉพาะสำหรับ BAAC EXIM GH BANK และ SME BANK
กระทรวงการคลังมีแผนในการหาพันธมิตรที่จะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหม่ใน IBANK แต่กรอบระยะเวลายังคงไม่มีความชัดเจนและยังอาจจะขึ้นอยู่กับการปรับตัวดีขึ้นของผลการดำเนินงานของธนาคาร ทั้งนี้ฟิทช์คาดว่า ณ ขณะนี้จะยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงสถานะทางกฎหมายของ IBANK ที่ปัจจุบันเป็นธนาคารรัฐ แต่อย่างไรก็ตามหากมีการเปลี่ยนแปลงสถานะทางกฎหมายของธนาคารหรือบทบาทในเชิงนโยบายของธนาคารถูกปรับลดลง อาจส่งผลให้ฟิทช์ทำการปรับลดอันดับเครดิตของธนาคาร ในทางกลับกัน หาก IBANK มีบทบาทในการสนับสนุนนโยบายรัฐมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง และฟิทช์ทบทวน (reassessment) โอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนพิเศษนอกเหนือจากการสนับสนุนในด้านการดำเนินงานปรกติ (extraordinary support) แก่ IBANK และเชื่อว่าโอกาสดังกล่าวมีมากขึ้นและค่อนข้างมั่นคง ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้ธนาคารได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิต ตัวอย่างเช่น หากรัฐบาลมีการประกาศเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่าต้องรักษาสถานะการเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ซึ่งจะมีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของธนาคารต่อไป
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมด มีดังนี้
BAAC
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F1+(tha)’
EXIM:
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘BBB+’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F2’
- อันดับเครดิตสนับสนุนคงอันดับที่ ‘2’
- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำคงอันดับที่ ‘BBB+’
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F1+(tha)’
-อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของโครงการหุ้นกู้ Medium Term Note ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน มูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คงอันดับที่ ‘BBB+’
GH BANK
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F1+(tha)’
IBANK
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘BBB-’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F3’
- อันดับเครดิตสนับสนุนคงอันดับที่ ‘2’
- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำคงอันดับที่ ‘BBB-’
- อันดับเครดิตในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F1+(tha)’
SME BANK
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F1+(tha)’