พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงยุติธรรม กล่าวในการเป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาวิชาการภายใต้หัวข้อ "International Cyberspace: The New Frontier for Peace and Cooperation"ว่า ในยุคปัจจุบันไซเบอร์สเปซ มีบทบาทสำคัญมากขึ้น เนื่องจากเป็นพื้นที่เชื่อมโยงเครือข่ายเกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ต เกี่ยวข้องกับดิจิทัล จึงเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ ดังนั้น ควรพัฒนาไซเบอร์สเปซให้มีความปลอดภัย มีองค์กรเข้ามาดูแล สร้างมาตรฐาน สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งในปี 62 ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ไทยจึงสามารถผลักดันบทบาทตนเองให้เป็นศูนย์กลางความร่วมมือด้านไซเบอร์สเปซในภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้การเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 ของไทย นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเรื่องการเชื่อมโยงด้านดิจิทัลในภูมิภาคโดยเฉพาะพื้นที่ CLMVT(กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) ทั้งด้านกายภาพ ผ่านโครงการเคเบิลใต้น้ำ การเชื่อมโยงด้านซอฟแวร์ การเชื่อมโยงด้านแอพพลิเคชั่น การเชื่อมโยงด้านข้อมูล ตลอดจนการเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ กติกา และการเชื่อมโยงด้านสังคม และประชาชน
ด้านนางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (เอ็ตด้า) กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้เพื่อสร้างพื้นฐานความร่วมมือด้านไซเบอร์สเปซของไทยและนานาประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ มีระบบสิ่งแวดล้อมที่เชื่อถือได้ มีโครงสร้างทางกฎหมาย เพื่อคุ้มครองข้อมูลมากำกับ โดยความท้าทายคือการตีความความการรักษาความปลอดภัยของไซเบอร์สเปซแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน จึงต้องหาจุดสมดุลของหลักเกณฑ์ ที่จะเป็นแนวทางปฏิบัติระดับสากลให้เหมาะสมมากที่สุด
นายชัยชนะ มิตรพันธ์ รองผู้อำนวยการ เอ็ตด้า กล่าวว่า ไซเบอร์สเปซเป็นพื้นที่ใหม่ที่สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ครอบคลุมทุกมิติ เป็นช่องทางขนส่งข้อมูล และข่าวสาร จำเป็นต้องมีกฎระเบียบเข้ามาดูแล เพราะไซเบอร์สเปซ เสมือนโลกอีกใบหนึ่ง มีความสำคัญเท่าๆกับการขนส่งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ และอวกาศ ซึ่งล้วนมีกฎหมายมารองรับ โดยการจะนำกฎหมายแบบปกติไปบังคับใช้ในพื้นที่ไซเบอร์สเปซอาจปรับใช้ไม่ได้ 100% ต้องมีกฎหมายเฉพาะที่เข้ากับสภาพแวดล้อมของไซเบอร์สเปซ ซึ่งปัจจุบันโลกอยู่ในช่วงพัฒนากฎระเบียบ มีการถกถึงประโยชน์ และผลกระทบของไซเบอร์สเปซ อย่างกว้างขวาง