นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับการรายงานจากผู้ว่าราชการจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่ประจำในแต่ละจังหวัดว่า จะมีการเชิญประชุมนายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อกำหนดแผนการใช้ยางพาราทำถนนในเขตพื้นที่ของจังหวัด และในเขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประกอบกับกำหนดแผนการใช้ยางพาราสำหรับทำถนนนั้นมี 2 ประเภท ได้แก่ 1) พาราแอสฟัลติก (Para Asphaltic) และ 2) พาราซอยซีเมนต์ (Parasol Cemen) โดยส่วนใหญ่จะเน้นทำพาราซอยซีเมนต์ เพราะเป็นถนนในหมู่บ้าน ส่วนพาราแอสฟัลติก คือถนนใหญ่ ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงคมนาคม
ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการขอแบบแปลนกลาง (แบบประเมินราคากลาง) คาดว่าแบบรับรองโครงสร้างถนนพาราแอสฟัลติกจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทย ได้ออกหนังสือสั่งการไปยัง อปท. ให้นายก อปท. สามารถใช้งบประมาณสะสมขององค์กรมาทำถนนได้
ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตั้งศูนย์อำนวยการติดตามโครงการทำถนนและยางพารา ควบคู่กับกระทรวงมหาดไทย เพื่อบูรณาการทำงานสนับสนุนและช่วยเหลือกัน และยืนยันว่าโครงการนี้สามารถดูดซับปริมาณยางพาราที่มีอยู่จำนวนมากให้หมดลงไปได้ อีกทั้งได้รับการรายงานว่า จ.เชียงใหม่ มีน้ำยางพาราจำนวน 3,000 ตัน อปท. จำนวน 65 องค์กร
อย่างไรก็ตาม ได้รับรายงานจากผู้ว่าฯ ว่า น้ำยางที่มีอยู่ในขณะนี้ไม่พอต่อความต้องการ จึงได้แนะแนวทางในการนำน้ำยางจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง มาใช้ได้ ส่วนการซื้อน้ำยางสด ขอให้ซื้อจากสถาบันเกษตรกร, กลุ่มเกษตรกร, สหกรณ์การเกษตรและรัฐวิสาหกิจชุมชน ซึ่งการยางแห่งประเทศไทย ( กยท.) เป็นผู้รับรอง และในการซื้อน้ำยางนั้น ใช้ราคากลางซึ่ง กยท. ประกาศทุกวันเป็นราคารับซื้อ
"กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สนับสนุนให้ซื้อน้ำยางจากสถาบันเกษตรกรโดยตรง เนื่องจากขณะนี้ชาวสวนยางกำลังได้รับความเดือดร้อน ซึ่งรัฐบาลพยายามดูแลให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้และมีรายได้มากขึ้น อีกทั้งกระทรวงเกษตรฯ จะเชิญผู้ประกอบการแปรรูปทำยางล้อรถยนต์ทั้งในและต่างประเทศมาร่วมหารือกัน ซึ่งในส่วนของการจำหน่ายต่างประเทศนั้นจะขอความร่วมมือให้รับซื้อน้ำยางพารามากขึ้นกว่าปกติ" นายกฤษฎา กล่าว