ก.อุตฯ วางนโยบายพัฒนา SME ปี 62 หนุนแนวคิดการตลาดนำการผลิต ปูทางสู่ Digital Marketing

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 28, 2018 12:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในปี 2562 กสอ. มีนโยบายในการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปี 2562 ด้วยแนวคิด "การตลาดนำการผลิต" ซึ่งนโยบายดังกล่าว มุ่งให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้ทันกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมในเรื่อง "การทำตลาดออนไลน์" หรือดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนการแข่งขันทางธุรกิจ โดยเฉพาะการลดต้นทุนการก้าวนำคู่แข่ง การเชื่อมโยงผู้บริโภคจากทั่วโลก รวมทั้งความได้เปรียบทางด้านข้อมูลที่ยุคนี้จะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว

ล่าสุด กสอ.ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และ อาลีบาบา บิซิเนส สคูล (Alibaba Business School) จัดกิจกรรมสัมมนา Alibaba Global Course ภายใต้แนวคิด "New Technology, New Opportunity Thailand 2018" ซึ่งมุ่งเน้นการเจาะลึกดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งด้วยเทคโนโลยีก้าวกระโดด เพื่อชิงความได้เปรียบช่องทางการตลาดออนไลน์ ให้กับผู้ค้าของไทย ประกอบไปด้วย เส้นทางในการก้าวสู่การเป็นดิจิทัลของเมืองเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการไทยในด้านความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีดิจิทัล การเจาะลึกปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (Human Computer Interactive) ที่จะเผยให้เห็นถึงข้อมูลอินไซต์จากวิจัยของอาลีบาบาเพื่อให้ความรู้และประสบการณ์ใหม่ในการดำเนินธุรกิจให้ผู้ประกอบการ และยกระดับประสบการณ์ในการช้อปปิ้งให้กับผู้บริโภค พร้อมทั้งศักยภาพของบิ๊กดาต้าที่จะช่วยเปลี่ยนถ่ายธุรกิจสู่ระบบดิจิทัล โดยมีสมาร์ทสโตร์และช่องทางค้าปลีกของอาลีบาบาเป็นกรณีศึกษา พร้อมด้วยวิทยากรในระดับแถวหน้าจากอาลีบาบาที่ให้เกียรติร่วมบรรยายอย่างมากมาย

นายกอบชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีถัดไปเทรนด์การทำการตลาดผ่านช่องทางดิจิทัล คาดว่าจะมีการแข่งขันกันในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวและติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในเรื่องที่สำคัญต่อไปนี้

1.การสร้างเรื่องราวของแบรนด์ หรือ Content Marketing ซึ่งจะต้องมีความแตกต่าง จากการนำเสนอเนื้อหาของแบรนด์ด้วยประสบการณ์จริงที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความจริงใจ มีความรวดเร็ว สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆที่เป็นปัจจุบัน และต้องสร้างความรู้สึกให้ผู้พบเห็นหรือผู้บริโภครู้สึกอยากติดตามจากความสม่ำเสมอในการนำเสนอเนื้อหาที่ต้องไม่มากหรือน้อยจนเกินไป

2.การเลือกใช้ช่องทางที่มีประสิทธิภาพในการจำหน่าย หรือประชาสัมพันธ์ เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ล้วนเข้าถึงสังคมออนไลน์ประเภทต่างๆแทบทั้งสิ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องรู้จักการนำสินค้าให้เข้าไปอยู่บนช่องทางที่สอดคล้องกับผู้บริโภคในแต่ละช่วงอายุ เช่น ตลาดผู้สูงอายุต้องใช้ช่องทางที่ไม่ซับซ้อนและเข้าถึงง่าย กลุ่มวัยรุ่นต้องเน้นภาพ เนื้อหา และการโต้ตอบ กลุ่มคนวัยทำงานเน้นช่องทางที่สามารถชำระค่าบริการได้อย่างเบ็ดเสร็จ เป็นต้น

3.การให้ความสำคัญกับข้อมูล (Big Data) จากพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถศึกษาได้จากผู้ให้บริการช่องทางการค้าออนไลน์ ทั้งการให้ความสนใจกับสินค้าแต่ละประเภท การตัดสินใจเลือกซื้อ รวมถึงการติดตามผ่านการสื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งจะทำให้ทราบถึงแนวทางการปรับปรุงคุณภาพสินค้าและการบริการ ต่อเนื่องถึงการสร้างความภักดีต่อแบรนด์ในระยะยาว

4.ให้ความสำคัญกับความรวดเร็ว ผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับการรับมือจากการเข้ามาของระบบเทคโนโลยี 5 G ซึ่งอาจมีผลที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคมีความรวดเร็วในการตัดสินใจ ความเร่งรีบในการเลือกชมสินค้า ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องปรับกลยุทธ์การนำเสนอเนื้อหาที่ต้องสามารถเห็นแล้วเข้าใจทันที มีระบบการสั่งซื้อ จ่ายเงิน และการขนส่งที่รวดเร็ว การตอบข้อสงสัยด้วยระบบอัตโนมัติเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ได้ตลอดเวลา

5.เตรียมกำลังคนให้พร้อมกับทักษะด้านดิจิทัล ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่งในแต่ละองค์กร ดังนั้นทั้งผู้ประกอบการและบุคลากรในแต่ละธุรกิจจึงต้องมีทักษะในเรื่องดังกล่าว เช่น การรับ-ส่งข้อมูล การวิเคราะห์สถิติต่างๆ การอัพเดทเทคโนโลยีใหม่ๆที่สามารถเป็นเครื่องมือและเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจ

สำหรับการส่งเสริมของ กสอ.ในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมาได้ผลักดันให้ผู้ประกอบการก้าวเข้าสู่ช่องทางออนไลน์ เช่น T-GoodTech, J-GoodTech , Alibaba โดยมุ่งเน้นการจับคู่ระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (Business to Business: B2B) ระหว่างผู้ประกอบการไทยด้วยกันเองและผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการต่างประเทศ รวมถึงขายสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคทั่วไป (Business to Consumer:B2C)ซึ่งเป้าหมายในปีถัดไปยังจะมุ่งผลักดันให้เข้าถึงช่องทางการค้าออนไลน์ต่างๆ ให้ได้มากกว่า 10,000 ธุรกิจ ครอบคลุมปัจจัยที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมและธุรกิจหลากหลายประเภท อาทิ การจัดการด้านโลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซ การประชาสัมพันธ์ ฯลฯ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจเอสเอ็มอีให้เติบโต พร้อมก่อมูลค่ามหาศาลผ่านช่องทางที่มีประสิทธิภาพได้มากยิ่งขึ้น

ด้านนายไมเคิล ซู ผู้อำนวยการอาลีบาบา กรุ๊ป และรองประธานมหาวิทยาลัยเถาเป่า กล่าวว่า ในการจัดฝึกอบรมในครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นจุดยืนของอาลีบาบาที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กของไทย ตามที่เคยให้คำมั่นไว้กับรัฐบาลไทย โดยสัมมนาในครั้งนี้ จะเน้นในด้านเทคโนโลยีที่จะช่วยการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล ทั้งในด้านธุรกิจจนไปถึงการบริหารจัดการเมือง โดยหวังว่าการสัมมนานี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมสัมมนาในการวางแผนของการก้าวสู่เส้นทางของโลกดิจิทัล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ