นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนตุลาคมปี 2561 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2561 ได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 เดือน ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวสูงสุดในรอบ 70 เดือน และปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศขยายตัวสูงสุด 65 เดือน
ขณะที่สถานการณ์การส่งออกกลับมาขยายตัวโดยการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และจีนกลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า สำหรับเศรษฐกิจไทยด้านการผลิตมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมเป็นสำคัญ ขณะที่สถานการณ์การท่องเที่ยวต่างชาติยังคงหดตัวเล็กน้อย
ในเดือนตุลาคม 2561 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ขยายตัวในระดับสูงที่ 14.1% ต่อปี และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนตุลาคม 2561 กลับมาขยายตัวขึ้น 1.9% ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวทั้งในเขต กทม. 3.9% ต่อปี และเขตภูมิภาค 1.2% ต่อปี นอกจากนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัว 7.1% ต่อปี ขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 68.4 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดีจากทั้งจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและการลงทุนในหมวดก่อสร้าง โดยปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัวในระดับสูงที่ 36.0% ต่อปี คิดเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 70 เดือน เนื่องจากยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ขยายตัว 16.8% ต่อปี นอกจากนี้ ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวในระดับสูงที่ 14.9% ต่อปี และปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ขยายตัวที่ 13.8% ต่อปี ขยายตัวสูงสุดในรอบ 65 เดือน ตามการขยายตัวของโครงการก่อสร้างพื้นฐานภาครัฐ สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ในเดือนตุลาคม 2561 เท่ากับ 108.1 คิดเป็นการขยายตัว 1.2% ต่อปี จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กสูงขึ้น 2.0%
อุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนตุลาคม 2561 มีมูลค่า 21.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กลับมาขยายตัวที่ 8.7% ต่อปี โดยการส่งออกขยายตัวในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดในภูมิภาคเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น CLMV เป็นต้น นอกจากนี้ การส่งออกไปยังสหรัฐฯ และจีนกลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 22.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนตุลาคม 2561 ขาดดุลจำนวน 280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานในเดือนตุลาคม 2561 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัวเล็กน้อย โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนตุลาคมขยายตัวที่ 4.2% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวได้ดีในหมวดพืชผลสำคัญ หมวดปศุสัตว์ และหมวดประมงที่ขยายตัว 5.8% 0.4% และ 1.6% ตามลำดับ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) อยู่ที่ระดับ 92.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน โดยค่าดัชนีที่เพิ่มขึ้นเกิดจากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่เป็นสำคัญ เนื่องจากมีคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปลายปี และการปรับลดลงของราคาน้ำมัน
นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2561 มีจำนวน 2.71 ล้านคน หดตัว 0.5% ต่อปี จากการหดตัวต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวมาเลเซีย ที่ขยายตัวในระดับสูง 22.4% ต่อปี นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวชาวฮ่องกง ลาว กัมพูชา และญี่ปุ่น ขยายตัวได้ดีเช่นกัน ทั้งนี้ ส่งผลทำให้เดือนตุลาคม 2561 มีรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศ มูลค่า 141,061 ล้านบาท ขยายตัว 0.7% ต่อปี
เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ 1.2% ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันส่งผลให้ราคาสินค้าหมวดพลังงานสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าหมวดอาหารสดลดลง เนื่องจากเป็นฤดูที่สินค้าผักและผลไม้หลายชนิดออกสู่ตลาด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.7% ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ 1.0% ของกำลังแรงงานทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.8 แสนคน ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนกันยายน 2561 ทรงตัวอยู่ที่ 41.7% ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งเพดานไว้ไม่เกิน 60% ต่อ GDP ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ เดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 201.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.1 เท่า