สศค.เผยต.ค.61 หลายภูมิภาคเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องจากการลงทุนเอกชน-ท่องเที่ยวฟื้น เสถียรภาพอยู่ในเกณฑ์ดี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 28, 2018 14:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนตุลาคม ปี 2561 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคยังคงขยายตัวต่อเนื่องในหลายภูมิภาค นำโดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี

โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัว 8.9% ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ และสกลนคร เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ 12.4% และ 6.2% ต่อปี ตามลำดับ จากขยายตัวในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดเลย กาฬสินธุ์ และขอนแก่น เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนตุลาคม ปี 2561 ขยายตัว 3.7% และ 17.4% ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้มีเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในเดือนตุลาคม 2561 ที่ 847 ล้านบาท ขยายตัว 65.8% ต่อปี

สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัว 5.8% และ 9.1% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเดือนตุลาคม 2561 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 89.7 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนตุลาคมเบื้องต้น ยังคงอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคภายในภูมิภาคที่ 1.1% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคอุตสาหกรรมช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัว 27.6% ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ 10.4% และ 4.0% ต่อปี ตามลำดับ จากขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชลบุรี ปราจีนบุรี และสระแก้ว เป็นต้น สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัว 21.0% ต่อปี และเม็ดเงินลงทุนที่เริ่มประกอบกิจการ อยู่ที่ 1,752 ล้านบาท หรือขยายตัว 4.8% ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดชลบุรี และปราจีนบุรี

สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกในเดือนตุลาคม ปรับเพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกันมาอยู่ที่ 109.7 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น เป็นต้น สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.1% และ 5.4% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ 1.1% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคเหนือ เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน และการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน จากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยายนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนตุลาคม ปี 2561 ขยายตัว 5.6% และ 2.3% ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 21.7% และ 24.7% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด รวมถึงเม็ดเงินลงทุนที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ 3,937 ล้านบาท ขยายตัว 1,315.9% ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดกำแพงเพชร และลำพูน เป็นสำคัญ จากการลงทุนในโรงงานผลิตเครื่องดื่มที่แอลกอฮอล์

สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่3.4% และ 8.6% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคเหนือในเดือนตุลาคม อยู่ที่ 78.4 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเซรามิกส์ และอุตสาหกรรมสมุนไพร เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ 0.7% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัว 8.7% ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดสระบุรี และสิงห์บุรี เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้น้อย สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 9.5% ต่อปี เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 8.6% และ 29.5% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดสระบุรี สิงห์บุรี และชัยนาท เป็นต้น

สำหรับด้านอุปทาน ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลางที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 95.1 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอลูมิเนียม อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี จากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัว 5.7% และ 6.2% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ 0.9% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 1.1% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในตุลาคม 2561 ขยายตัว 13.3% และ 13.3% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดนนทบุรี และสมุทรสาคร สอดคล้องกับเงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในตุลาคม 2561 อยู่ที่ 4,718 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ 61.1% ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดสมุทรปราการ ปทุมธานี และสมุทรสาคร ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ฐานรากกลับมาขยายตัว สะท้อนจากยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 3.3% ต่อปี

สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือนกันยายน ปี 2561 ขยายตัว 6.2% ต่อปี ตามการขยายตัวทั้งผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ 1.7% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 1.1% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ 1,137.4 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ 142.0% จากการลงทุนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และยะลา เป็นสำคัญ จากการลงทุนในโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป และโรงงานผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่าย สอดคล้องกับรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัว 2.9% ต่อปี จากการขยายตัวในทุกจังหวัดสุราษฎร์ธานี สงขลา และยะลา เป็นต้น ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับคงที่ และยอดรถยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 2.1% และ 2.7% ต่อปี ตามลำดับ

สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัว 2.5% และ 6.8% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ในระดับเอื้อต่อการบริโภคที่ 1.4% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 1.1% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันตก เศรษฐกิจขยายตัว ได้รับแรงขับเคลื่อนจากการการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัว 7.0% และ 14.7% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดราชบุรี และสุพรรณบุรี เป็นต้น ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลงจากจากเดือนก่อน

สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัว 2.4% และ 3.7% ต่อปี สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลางที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 95.1 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอลูมิเนียม อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคและการผลิตภายในภูมิภาคที่ 1.3% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ