นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ ธพส.ดำเนินโครงการก่อสร้างศูนย์ราชการโซน C มูลค่า 3 หมื่นล้านบาทแล้ว หลังจากนี้ ต้องเร่งจ้างที่ปรึกษาโครงการเพื่อเข้ามาช่วยบริหารโครงการ ตั้งแต่การออกแบบรายละเอียดโครงการทั้งหมด การทำร่างสัญญาการก่อสร้าง (ทีโออาร์) โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2562 และก่อสร้างเสร็จให้หน่วยงานเข้าใช้พื้นที่ได้ในปี 2565
นายอำนวย กล่าวว่า ธพส.จะเร่งหารือกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ถึงแหล่งเงินกู้ที่จะนำมาใช้ในโครงการ และบรรจุไว้ในแผนการก่อหนี้สาธารณะปี 2562 เพิ่มเติมเพื่อเสนอให้ ครม.เห็นชอบต่อไป
สำหรับแผนการก่อหนี้ดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเป็นเงินกู้ หรือการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน (ซีเคียวริไทเซชั่น) เหมือนกับก่อสร้างศูนย์ราชการโซน A และ B ที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อดีแต่ละด้านที่ต้องพิจารณา เช่น การกู้เงินอาจจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าเพราะอัตราดอกเบี้ยลอยตัว แต่การแปลงสินทรัพย์เป็นทุนก็ส่งผลดีทำให้ไม่เป็นหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้น ซึ้งทาง ธพส.จะต้องหารือกับ สบน.เพื่อศึกษารายละเอียดดังกล่าวให้ได้ประโยชน์กับทำโครงการและเศรษฐกิจของประเทศมากสุด
"นอกจากการกู้เงิน ธพส.ยังต้องดำเนินการหารือกับผู้เช่าพื้นที่ศูนย์ราชการโซฯ C ที่มี 13 หน่วยงาน ซึ่งจองใช้พื้นที่เต็มหมดแล้ว ถึงอัตรากำลังคน เพื่อคำนวณการใช้พื้นที่ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อที่จะได้จัดสรรพื้นที่ให้แต่ละหน่วยงานอย่างพอเพียง" นายอำนวย กล่าว
สำหรับพื้นที่โซน C ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ มีที่ดินประมาณ 81 ไร่เศษ เชื่อมโยงกับพื้นที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ เดิม (โซน A และโซน B) เน้นการออกแบบที่อนุรักษ์พลังงาน จัดให้มีพื้นที่สีเขียวภายในโครงการฯ ไม่น้อยกว่า 40% และในศูนย์ราชการฯ แห่งนี้ ได้รวมหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานไว้ด้วยกัน โดยจัดให้แต่ละหน่วยงานมีทางเข้า-ออก และที่จอดรถยนต์เฉพาะของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงจัดให้มีบริการรถรับ-ส่งภายในโครงการฯ อย่างเพียงพอ ทำให้ข้าราชการและผู้มาติดต่อมีความสะดวกสบายในการเข้าใช้บริการกับแต่ละหน่วยงานได้ง่ายยิ่งขึ้น
ด้านนายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ กรรมการบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานแจ้งความประสงค์ขอรับการจัดสรรพื้นที่ปฏิบัติงานภายในศูนย์ราชการฯ แล้ว ประมาณ 13 หน่วยงาน ได้แก่ ศาลปกครองสูงสุด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กรมการท่องเที่ยว สำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานราชบัณฑิตยสภา สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นต้น