พาณิชย์ จับมือศุลกากรเกาหลีใต้แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านถิ่นกำเนิดสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้ AKFTA

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 29, 2018 11:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศได้ให้การต้อนรับคณะศุลกากรเกาหลี (Korea Customs Service: KCS) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการพิจารณาให้สิทธิพิเศษทางภาษีกับสินค้าไทย ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (AKFTA) นำโดย Mr. Kim Heekwon (Deputy Director of FTA Planning Division) โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้ร่วมหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านถิ่นกำเนิดสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้ AKFTA และการจัดทำสถาปัตยกรรมองค์กร (Enterprise Architecture) ของกรมการค้าต่างประเทศ

ทั้งนี้ไทยและเกาหลีใต้ได้ให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการค้าแบบไร้กระดาษ (Paperless) เพราะถือว่าเป็นต้นทุนการทำธุรกิจของภาคเอกชน ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของทั้ง 2 ฝ่ายได้มาหารือกันในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการพัฒนาการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศไปสู่การค้าแบบไร้กระดาษ ซึ่งตรงกับทิศทางการทำงานของกรมฯ ที่ต้องการอำนวยความสะดวกทางการค้าโดยการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมดิจิทัล ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทั้งนี้ หลังจากการหารือได้ให้ทั้ง 2 ฝ่ายไปศึกษาทางด้านเทคนิคและหารือต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในประเทศ ถึงความเป็นไปได้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านถิ่นกำเนิด ภายใต้ AKFTA เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ประกอบการต่อไป

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมการค้าต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักในการออกหนังสือรับรองสำคัญ อาทิ ใบอนุญาตการส่งออก-นำเข้าสินค้าควบคุม หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีต่างๆ การให้บริการตรวจถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ตลอดจนให้บริการมาตรฐานสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งที่ผ่านมาได้พัฒนาระบบสารสนเทศขึ้นมาเพื่อใช้ในการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาการจัดทำสถาปัตยกรรมองค์กรเพื่อจะบูรณาการระบบสารสนเทศภายในทุกภาคส่วนของกรมฯ ให้สามารถลดระยะเวลาและขั้นตอนการทำงาน และจัดเก็บข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ซับซ้อน ซึ่งเชื่อว่าการจัดทำสถาปัตยกรรมองค์กรของ คต.จะส่งเสริมให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลด้านถิ่นกำเนิดสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์กับประเทศภาคีต่างๆ ในอนาคตได้สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ