นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือน ต.ค.61 อยู่ที่ 48.0 ลดลงจาก 48.4 ในเดือน ก.ย.61
ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยคือ มูลค่าการส่งออกชายแดนของประเทศไทยเริ่มมีสัญญาณของการชะลอตัวลง ขณะที่การนำเข้ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง, การแข่งขันที่รุนแรงผ่านการค้าออนไลน์ส่งผลต่อการปรับตัวของผู้ประกอบการ, ภาวะการณ์ชะลอตัวลงของราคาสินค้าเกษตรบางชนิด เช่น ปาล์ม ยางพารา และข้าว, การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีน, การขาดสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจ SMEs
ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ การเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยของประชาชน, นโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาล, การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่และการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ, สัญญาณการเลือกตั้งที่ชัดเจนมากขึ้น, มูลค่าการค้าชายแดนยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง, ราคาพืชผลทางการเกษตรบางชนิดปรับตัวสูง เช่น มันสำปะหลัง และสินค้าปศุสัตว์
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคพบว่า ล้วนชะลอตัวลงและยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องและค่าดัชนีต่ำกว่า 50 โดยทัศนะต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในส่วนของภูมิภาค คือ ธุรกิจออนไลน์ที่กระทบต่อการประกอบกิจการของธุรกิจรายย่อยทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ ดังนั้นข้อเสนอแนะต่อภาครัฐและแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนจึงควรจัดอบรมการค้าออนไลน์ให้กับผู้ค้ารายย่อยเพื่อส่งเสริมการสร้างศักยภาพและการปรับตัวสำหรับการค้าสมัยใหม่ ส่งเสริมให้มี Clinic SMEs ในทุกจังหวัดเพื่อเป็นพี่เลี้ยงสำหรับการทำการค้าออนไลน์ และกำหนดกติกาในการทำการค้าออนไลน์เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและประสิทธิภาพในการการเก็บภาษีของรัฐบาล
ทั้งนี้ หอการค้าไทย ร่วมกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำการสำรวจกรณีดังกล่าวจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 363 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25 ต.ค.- 5 พ.ย.61