นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดสัมมนา "การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้สู่ตลาดอาเซียน" ครั้งที่ 1 ณ โรงแรมปาร์ควิว รีสอร์ท ปัตตานี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรี และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการให้ใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า รวมถึงกฎระเบียบทางการค้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสู่ตลาดอาเซียน โดยมีการเสวนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "เรื่องง่ายๆ ที่ต้องรู้กับการใช้ประโยชน์จาก FTA" และ "สินค้า 3 จังหวัดชายแดนใต้ ติดปีกสู่ตลาดการค้าเสรี" ซึ่งมีผู้ประกอบการจากจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ให้ความสนใจเข้าร่วมงานกว่า 160 คน
นายดวงอาทิตย์ กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมสัมมนาดังกล่าวได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญจากภาครัฐและภาคเอกชน เกี่ยวกับข้อมูลด้านการค้าระหว่างประเทศ ความตกลงเอฟทีเอ การเตรียมความพร้อมต่อการเปิดเสรีทางการค้า การขยายตลาดส่งออก และการสร้างเครือข่ายและพันธมิตรให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ รวมทั้งเปิดเวทีวิเคราะห์สินค้าเป้าหมายที่เป็นที่ต้องการของตลาด การแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องสินค้าส้มโอปูโกยะรัง ที่ได้รับเครื่องหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ความสำคัญของการจดสิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า รวมถึงบทบาทและการให้บริการของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เพื่อพัฒนาต่อยอดสินค้าในรูปแบบการบรรจุภัณฑ์ การสกัดสารอาหาร และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อขยายตลาดออนไลน์และออฟไลน์
สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการอย่างมาก เนื่องจากเห็นถึงประโยชน์จากการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า การส่งออกสินค้าไปตลาดอาเซียนด้วยอัตราภาษีเหลือร้อยละ 0 โดยเฉพาะการเข้าถึงตลาดมาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และอินโดนีเซีย รวมถึงตลาดจีน และตลาดตะวันออกกลาง และทราบถึงช่องทางการติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาสินค้าและเพิ่มการจำหน่าย เช่น ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานปัตตานี รวมถึงสำนักงานพาณิชย์จังหวัดปัตตานี
นอกจากนี้ ยังได้มีการประชาสัมพันธ์บทบาทของกรมฯ ที่มุ่งมั่นสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการค้าเสรี และกระตุ้นผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า รวมถึงได้สร้างเป็นเวทีเครือข่ายความเชื่อมโยงทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการในพื้นที่ ให้เกิดการซื้อขายสินค้าและวัตถุดิบ เช่น ข้าวพื้นเมือง ข้าวเกรียบปลา หรือกรือโป๊ะ ลูกหยี รวมทั้งผู้ประกอบการได้มีโอกาสถ่ายทอดประสบการณ์และช่องทางการติดต่อหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาสินค้า เพื่อให้เกิดการเติบโตทางการค้าไปด้วยกัน