(เพิ่มเติม) ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยต.ค.61 อยู่ที่ 48.0 จาก 48.4 ใน ก.ย.61 จากการค้าชายแดน-ราคาสินค้าเกษตรชะลอลง-นทท.จีนลด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 29, 2018 15:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือน ต.ค.61 อยู่ที่ 48.0 ลดลงจาก 48.4 ในเดือน ก.ย.61

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยคือ มูลค่าการส่งออกชายแดนของประเทศไทยเริ่มมีสัญญาณของการชะลอตัวลง ขณะที่การนำเข้ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง, การแข่งขันที่รุนแรงผ่านการค้าออนไลน์ส่งผลต่อการปรับตัวของผู้ประกอบการ, ภาวะการณ์ชะลอตัวลงของราคาสินค้าเกษตรบางชนิด เช่น ปาล์ม ยางพารา และข้าว, การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีน, การขาดสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจ SMEs

ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ การเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยของประชาชน, นโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาล, การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่และการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ, สัญญาณการเลือกตั้งที่ชัดเจนมากขึ้น, มูลค่าการค้าชายแดนยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง, ราคาพืชผลทางการเกษตรบางชนิดปรับตัวสูง เช่น มันสำปะหลัง และสินค้าปศุสัตว์

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคพบว่า ล้วนชะลอตัวลงและยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องและค่าดัชนีต่ำกว่า 50 และเมื่อแบ่งเป็นรายภาค กรุงเทพและปริมณฑล ค่าดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 49.5 ลดลงจาก 49.8 ในเดือนก.ย., ภาคกลางอยู่ที่ระดับ 47.9 ลดลงจาก 48.2 ในเดือนก.ย., ภาคตะวันออกอยู่ที่ระดับ 52.4 ลดลงจาก 52.8 ในเดือนก.ย., ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 47.1 ลดลงจาก 47.4 ในเดือนก.ย. และภาคใต้อยู่ที่ระดับ 46.7 ลดลงจาก 47.3 ในเดือนก.ย.

ขณะที่ภาคเหนือดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 48.2 จาก 48 ในเดือนก.ย.จากปัจจัยบวกคือ เข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยวภาคเหนือ การใช้จ่ายของหน่วยงานภาครัฐในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการค้าบริเวณแนวชายแดน

นอกจากนี้ในด้านสถานการณ์เศรษฐกิจของจังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในระดับไม่เปลี่ยนแปลง ยกเว้นด้านการท่องเที่ยวและภาคเกษตรที่อยู่ในระดับที่แย่ลง โดยรวมมีปัจจัยลบจากภาวการณ์ชะลอตัวของราคาสินค้าเกษตรบางชนิด เช่น ปาล์ม ยางพารา และข้าว เป็นต้น

เมื่อสำรวจทัศนะต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในส่วนของภูมิภาค พบว่า เกิดจากธุรกิจออนไลน์ที่กระทบต่อการประกอบกิจการของธุรกิจรายย่อยทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ ดังนั้นข้อเสนอแนะต่อภาครัฐและแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนจึงควรจัดอบรมการค้าออนไลน์ให้กับผู้ค้ารายย่อยเพื่อส่งเสริมการสร้างศักยภาพและการปรับตัวสำหรับการค้าสมัยใหม่ ส่งเสริมให้มี Clinic SMEs ในทุกจังหวัดเพื่อเป็นพี่เลี้ยงสำหรับการทำการค้าออนไลน์ และกำหนดกติกาในการทำการค้าออนไลน์เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและประสิทธิภาพในการการเก็บภาษีของรัฐบาล

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ในส่วนของภาคบริการยังมีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่ง และกลับมาอยู่ในภาวะปกติเมื่อดูรายละเอียดรายภูมิภาคและให้การบริการในด้านต่างๆ เช่น การโรงแรรมและภัตตาคาร บริการสุขภาพ ธุรกิจนำเที่ยว ยอดขายในรอบ 4 เดือนอยู่ในระดับปกติ

ทั้งนี้ หอการค้าไทย ร่วมกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำการสำรวจกรณีดังกล่าวจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 363 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25 ต.ค.- 5 พ.ย.61


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ