นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เผยภาวะสังคมไทยในช่วงไตรมาส 3/61 การจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.7% โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ไตรมาส โดยภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1.9% และภาคนอกเกษตรเพิ่มขึ้น 1.6% เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อน และขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี เป็นผลจากเศรษฐกิจขยายตัว
โดยเฉพาะ สาขาการขนส่งและเก็บสินค้าเพิ่มขึ้น 10.7% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2557, สาขาโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้น 3.0%, สาขาผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 2.8% ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3, สาขาการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 2.6 % ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี และสาขาการขนส่ง การขายปลีก เพิ่มขึ้น 0.9
ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.2% ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/60 โดยลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานและที่ไม่เคยทำงาน 11.5% และ 22.2 % ตามลำดับ โดยะเมื่อพิจารณาการว่างงานตามระดับการศึกษา พบว่า อัตราว่างงานลดลงทุกระดับการศึกษา แต่ผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามีอัตราว่างงานสูงกว่าระดับการศึกษาอื่น
ขณะที่กลุ่มผู้ทำที่ทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ กลับปรับตัวลดลง 1.1 % ขณะที่กลุ่มผู้มีงานทำต่ำกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และต้องการทำงานเพิ่ม ขยายตัวสูงถึง 17.5 % สะท้อนสภาวะการทำงานที่ยังไม่เต็มศักยภาพของแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานภาคเกษตร ซึ่งมีผู้ทำงานต่ำระดับสูงประมาณ 236,065 คน หรือเพิ่มขึ้น 14.0 % สอดคล้องกับชั่วโมงการทำงานในภาพรวมที่ปรับตัวลดลง 1.5 % เช่นเดียวกับชั่วโมงการทำงานของแรงงานภาคเอกชนที่ลดลงร้อยละ 0.6
ส่วนผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น 1.6% สอดคล้องกับค่าจ้างแรงงานที่ขยายตัวขึ้น โดยค่าจ้างแรงงานภาพรวมทั้งระบบและภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 1.4 % และ 3.1 % ตามลำดับ และเมื่อหักเงินเฟ้อ 1.5 % พบว่า ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 1.4 % โดยค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงเอกชนนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น 1.2 % ขณะที่ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงเอกชนในภาคเกษตรปรับตัวลดลง 0.5 % ซึ่ฃแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของค่าจ้างแรงงานภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นช้ากว่าราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น
นายทศพร กล่าวถึงแนวโน้มการจ้างงานในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 61 สถานการณ์การจ้างงานและตลาดแรงงานมีแนวโน้มในทิศทางที่ดี ตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความผ่อนคลายของแรงกดดันต่อการส่งออกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าต่างๆ รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ต.ค.ที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง
อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามและเฝ้าระวังความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความไม่แน่นอนและผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน รวมทั้งความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนยังขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาส 3/61 ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคในส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ ขยายตัว 8.4% ส่วนความสามารถในการชำระหนี้เมื่อพิจารณาสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อเกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.72% ในไตรมาส 2/61 เป็น 2.73% ในไตรมาสนี้ แต่ยังไม่มีสัญญาณปัญหาการชำระหนี้ โดยการผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อบัตรเครดิตยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน โดยยอดสินเชื่อผิดนัดชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ เพิ่มขึ้น 9.7% ขณะที่ยอดสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อบัตรเครดิตลดลง 0.2 %
นายทศพร เชื่อว่า มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เพิ่มเติมผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะมีส่วนช่วยในการดำรงชีพของประชาชนผู้มีรายได้น้อย และช่วยกระตุ้นการบริโภค เกิดการจ้างงานและการผลิต และส่งผลให้รายได้ของประเทศเติบโตต่อไปได้ ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ปัญหาได้ถูกจุด