หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์รายงานการแสดงความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ว่า การที่กลุ่มผู้นำสหรัฐเพิ่งคิดหาทางกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจช่วงขาลงที่ส่อเค้าว่าจะปรากฏให้เห็นชัดเจนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้นั้น อาจเป็นการดำเนินการที่สายเกินแก้ แม้ว่าพวกเขาจะพยายามเร่งหามาตรการแก้ไขมากเพียงใดก็ตาม
เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เศรษฐกิจสหรัฐได้รับแรงขับเคลื่อนจากธุรกิจการเงินที่มีความสลับซับซ้อน ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่มีผู้ที่เข้าใจสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งหมดได้อย่างถ่องแท้ แต่อาจมีเพียงผู้ที่สามารถคาดเดาได้ว่า เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงไปถึงระดับไหน ก่อนที่จะกลับมามีเสถียรภาพได้อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ บรรดาตัวแทนจากพรรคต่างๆในสหรัฐต่างชูนโยบายทางเศรษฐกิจขึ้นมาหาเสียงกันยกใหญ่ อาทิ การปรับลดภาษี การให้ความช่วยเหลือให้กับผู้ตกงาน และมาตรการช่วยรับภาระของผู้มีค่าใช้จ่ายสูง และที่เร่งด่วนที่สุดคือ ความเคลื่อนไหวจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญช่วงขาลงอย่างหนัก
นายเดวิด โรเซ็นเบิร์ก หัวหน้านักวิเคราะห์จากเมอร์ริล ลินซ์ในอเมริกาเหนือกล่าวว่า "คำถามสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า สหรัฐจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ภาวะการชะลอตัวครั้งนี้จะเลวร้ายมากเพียงใดและจะยังดำเนินอยู่ต่อไปนานเท่าไร เพราะแม้ว่าท้ายที่สุดแล้วเฟดจะใช้นโยบายเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ แต่เราคาดว่าสหรัฐก็ยังต้องเผชิญวิกฤตขาลงไปจนถึงปลายปี 2551 หรือปี 2552"
ทั้งนี้ ในมุมมองของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้กำลังอยู่ในวงจรช่วงขาลง จากปัจจัยต่างๆในแง่ลบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แม้แต่ราคาที่อยู่อาศัยที่ร่วงลงก็บั่นทอนความสามารถในการชำระเงินกู้ของเจ้าของบ้านด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับอัตราการใช้จ่ายเงินผู้บริโภคที่ลดลงก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ภาคธุรกิจมีอัตราการจ้างงานชะลอตัว และมีการลดอัตราค่าแรง จนส่งผลให้ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมในการจับจ่ายใช้สอย
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย อรษา สงค์พูล/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--