ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 61 ว่า เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ โดยการบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวสูง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัวสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวเล็กน้อยตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเป็นสำคัญ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวเล็กน้อย โดยเฉพาะรายจ่ายประจำ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงตามราคาอาหารสดและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลง สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้าเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิ
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวสูงจากระยะเดียวกันปีก่อนตามการขยายตัวในทุกหมวด การใช้จ่ายสำหรับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมดีขึ้นต่อเนื่อง โดยรายได้รวมลูกจ้างนอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวในทุกสาขาหลัก ยกเว้นสาขาบริการที่ทรงตัว ขณะที่รายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมกลับมาขยายตัวจากด้านผลผลิต สำหรับราคาสินค้าเกษตรแม้ยังหดตัวแต่มีทิศทางปรับดีขึ้น
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวในเกือบทุกเครื่องชี้ด้านการลงทุน โดยเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ขยายตัวตามการนำเข้าสินค้าทุนของภาคเอกชน ยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศและยอดจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการลงทุน สำหรับเครื่องชี้การลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เมื่อปรับฤดูกาลแล้วเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากการลงทุนในหมวดก่อสร้างตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างเป็นสำคัญ
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายประจำหดตัวจากทั้งรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรขณะที่รายจ่ายลงทุนขยายตัวตามการเบิกจ่ายค่าก่อสร้างของกรมทางหลวง และการเบิกจ่ายเพื่อซ่อมบำรุงอากาศยานและจัดซื้อยานพาหนะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นสำคัญ
มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 8.4% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำขยายตัว 7.0% โดยเป็นการกลับมาขยายตัวหลังจากที่หดตัวไปในเดือนก่อนหน้าจากผลกระทบชั่วคราวจากเหตุการณ์วาตภัยในประเทศคู่ค้าหลายประเทศเริ่มคลี่คลายลงโดยเฉพาะญี่ปุ่นส่งผลให้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปประเทศเหล่านี้กลับมาขยายตัว และมาตรการภาษีการนำเข้าสินค้าจากจีนของสหรัฐฯ มีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้การส่งออกสินค้าไปจีนเร่งขึ้นก่อนการปรับขึ้นภาษี โดยเฉพาะเคมีภัณฑ์และยางพารา
นอกจากนี้การส่งออกสินค้ายังขยายตัวในหลายหมวดสินค้าและเกือบทุกตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ 1) สินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ ขยายตัวจากด้านราคาเป็นสำคัญ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี 2) สินค้าเกษตร ตามการส่งออกข้าวจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ดีต่อเนื่อง 3) สินค้าเกษตรแปรรูป ตามการส่งออกน้ำตาลเป็นสำคัญ และ 4) เครื่องจักรและอุปกรณ์โดยเฉพาะเครื่องจักรที่ใช้ในการเกษตร
ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสอดคล้องกัน โดยเฉพาะการผลิตในหมวดยานยนต์ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะการผลิตน้ำตาล และหมวดผลิตภัณฑ์ ปิโตรเลียม
ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวเล็กน้อยที่ 0.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยนักท่องเที่ยวจีนหดตัวสูงที่ 19.8% ส่วนหนึ่งจากความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจีนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ภายหลังจากเหตุการณ์เรือท่องเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ต ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจจีนเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวบางกลุ่มยังขยายตัวดี อาทิ มาเลเซีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ทั้งนี้เมื่อปรับฤดูกาลแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีน และนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่ลดลงหลังจากที่เร่งไปมากในช่วงก่อนหน้า
มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัวที่ 13.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำขยายตัว 13.3% เช่นเดียวกัน โดยเป็นการขยายตัวในหลายหมวดสินค้า อาทิ1) หมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ตามการนำเข้าน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และโลหะ 2) หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวตามการนำเข้าทั้งหมวดสินค้าไม่คงทนและสินค้าคงทน สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดี 3) หมวดยานยนต์และชิ้นส่วน ตามการนำเข้ารถยนต์นั่งและชิ้นส่วนยานยนต์ สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ขยายตัวดีและ 4) หมวดสินค้าทุน ตามการนำเข้าหมวดอุปกรณ์โทรคมนาคมและหมวดพลังงาน สอดคล้องกับการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.23% ชะลอจาก 1.33% ในเดือนก่อน ตามราคาอาหารสดที่ลดลงตามราคาผักที่หดตัวจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมาก ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานสูงจากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตยาสูบในปีก่อน
สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้าเป็นสำคัญ ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สิน โดยด้านสินทรัพย์เป็นการไหลออกสุทธิจากการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (Thai Direct Investment: TDI) และการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย ขณะที่ด้านหนี้สินเป็นการไหลออกสุทธิจากการขายตราสารทุนของนักลงทุนต่างชาติ สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนในตลาดทุนทั่วโลก และการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นของสถาบันการเงินที่รับฝากเงิน (ODC)