นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ระบุว่าภาคธุรกิจยังต้องใช้เวลาปรับตัวในการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อเสริมศักยภาพของธุรกิจ โดยแนะนำให้มีการแก้กฎระเบียบ เปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการทำงานเพื่อสามารถนำมาใช้จริง ขณะที่ปัจจุบันภาครัฐสนับสนุนบล็อกเชนในธุรกิจฟินเทคต่อเนื่องและมองโอกาสขยายสู่กลุ่มอื่น ๆ ด้วย พร้อมเสนอเปิดโอกาสไปสู่ภาคประชาชนให้มีการเรียนรู้จากการใช้งานจริง
ทั้งนี้ เทคโนโลยีบล็อกเชนถูกออกแบบมาให้สร้างความน่าเชื่อถือเป็นรายบุคคลแบบเชื่อมโยงกันเป็นสังคม เนื่องจากเป็นการดำเนินการแบบไม่รวมศูนย์ (decentralized) หรือคือการแบ่งแยกให้แต่ละคนเป็น "peer" และคอยดูแลซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นการเจาะ (Hack) ระบบจะทำได้ยาก เนื่องจากต้องมีการแก้ไขข้อมูลทั้งระบบ ดังนั้น หัวใจสำคัญของเทคโนโลยีบล็อกเชนคือการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับระบบ ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่ปัจจุบันโดยปกติแล้วคุ้นเคยกับการรวมศูนย์ หรือการพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบของการบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว หรือ "One-stop service"
ขณะที่ในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีกระแสการกล่าวถึงเทคโนโลยีบล็อกเชนกันค่อนข้างมาก ซึ่งหากจะนำมาใช้จริงจะต้องมีการแก้กระบวนทัศน์ความคิด รวมถึงแก้กฎระเบียบและวิธีการทำงาน ซึ่งบล็อกเชนเป็นเทคโลยีที่มีความซับซ้อนและเริ่มเข้ามามีผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตประจำวันมากขึ้น ไม่ต่างจากตอนเริ่มมีอินเตอร์เน็ตที่เป็นการเปลี่ยนวิธีคิดไปจากเดิม อย่างไรก็ดี คาดว่าภาคธุรกิจต่าง ๆ ยังต้องใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนจากการบริหารจัดการแบบเดิมไปสู่การบริหารจัดการที่ใช้บล็อกเชนเป็นฐาน
ส่วนบทบาทของภาครัฐ ปัจจุบันได้มีการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมากขึ้น ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้มีการพัฒนาจัดตั้งคณะกรรมการหลายชุด รวมถึงออกกฎระเบียบใหม่เพื่อรองรับการทำธุรกรรมที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน โดยเฉพาะการระดมทุนผ่าน ICO
ขณะเดียวกัน กระทรวงวิทยาศาสตร์ได้มีการทำ regulatory sandbox ขึ้นมาควบคู่กัน ซึ่งทำงานร่วมกับ ธปท.อย่างใกล้ชิด ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าฟินเทคเป็นสาขาธุรกิจที่มีโอกาสในการใช้บล็อกเชนมากที่สุด แต่ในอนาคตมองว่าทั้ง เรื่องเกษตรกรรม, พลังงาน,การบริหารจัดการส่วนท้องถิ่น หรือแม้แต่การบริหารจัดการการเลือกตั้ง ก็อาจจะต้องใช้บล็อกเชนได้เช่นกัน
"จะต้องมีการสร้างความน่าเชื่อถือ ตอนนี้สังคมไทยกำลังอยู่ในสังคมสองโลก คือ สังคมที่มีความเชื่อถือในเชิงพหุสังคม กับความน่าเชื่อถือแบบดิจิทัล ดังนั้นทำอย่างไรให้สองตัวนี้มาเชื่อมกันจำเป็นต้องมีแอพลิเคชันเยอะ ๆ และมี sandbox"นายพันธุ์อาจ กล่าว
นายพันธุ์อาจ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันประชาชนทั่วไปมีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสำคัญและกระบวนการต่าง ๆ ของเทคโนโลยีดังกล่าวไม่มากนัก ซึ่งมองว่ายังต้องใช้เวลาทำความเข้าใจอีกพอสมควร อย่างไรก็ดี มองว่าประชาชนสามารถเปิดรับเทคโนโลยีใหม่มาใช้ได้เร็ว ซึ่งจะมีการเรียนรู้จากการใช้งานจริงไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้นจะต้องเปิดโอกาสให้มีการใช้งานจริง มีการลองผิดลองถูก ซึ่งภาครัฐมีหน้าที่ในการปกป้องความปลอดภัยและผลประโยชน์ของประชาชนด้วย
ด้านนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตัล กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (BCGH) เปิดเผยว่า บล็อกเชนถือเป็นเทคโนโลยีที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพราะนวัตกรรมบล็อกเชนสามารถตัดคนกลางออกจากระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบการเงินที่ทำให้ต้นทุนถูกกว่าและปลอดภัย
ขณะที่เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นเครื่องมือที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความโปร่งใส ความเชื่อถือ ความรับผิดชอบ และความร่วมมือทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่สุดของบล็อกเชนคือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนช่วงองค์กรภาครัฐและเอกชนเพื่อก้าวข้ามสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ ซึ่งบริษัทสามารถทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมต่อช่องว่างขององค์ความรู้ระหว่างบริการบล็อกเชนกับธุรกิจที่ไม่คุ้นชินกับเทคโนโลยี ซึ่งจะสร้างระบบระหว่างกลุ่มต่าง ๆ
วันนี้ (30 พ.ย.61) บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ประธานเครือข่ายบล็อกเชนในประเทศไทย ร่วมกับมือกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เครือข่ายยูโรเปียนบล็อคเชนฮับ (European Blackchain Hub) องค์กรนานาชาติที่ไม่แสวงผลกำไร และสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งอาเซียน ร่วมเป็นเจ้าภาพจัด "งานประชุมสัมมนาวิชาการนานาชาติสุดยอดบล็อคเชนเพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขึ้น (Blockchain For Sustainable Development Goals Tour Summit 2018/19)"
ทั้งนี้ เพื่ออัพเดทความรู้บล็อกเชนโลกจากกลุ่มประเทศยุโรป อเมริกา อาเซียน พร้อมกรณีศึกษาจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ประยุกต์ใช้ได้ผลจริง ให้กับกลุ่มผู้นำภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศไทยให้สามารถรับมือกับวิกฤตพลวัตและดึงศักยภาพของเทคโนโลยีบล็อกเชนมาสร้างรูปแบบใหม่เพื่อให้บริการได้ตรงตามความต้องการของประชาชนได้ทัน
https://youtu.be/z98bzmnow_M