ศูนย์วิจัยกสิกรฯ แนะบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้งในไร่อ้อย ลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ชาวไร่อ้อย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 30, 2018 16:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ภายใต้แรงกดดันจากราคาอ้อยที่ตกต่ำ ขณะที่เครื่องมือที่นำมาใช้ช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น ภายหลังจากภาครัฐเริ่มลดการเข้าไปแทรกแซงราคา ซึ่งเป็นสัญญาณว่า รายได้จากการจำหน่ายอ้อยอาจไม่ดีเหมือนปีก่อนๆ ดังนั้นแนวทางแก้ไข โดยการหารายได้จากห่วงโซ่อุปทานอ้อยและน้ำตาล ในไร่นาที่ยังไม่ถูกนำมาพัฒนา หนึ่งในนั้นคือใบและยอดอ้อยที่มีมากถึงประมาณ ร้อยละ 17 ของปริมาณอ้อย

ทั้งนี้หากส่งเสริมและสนับสนุนรูปแบบการจัดการใบและยอดอ้อยในไร่อ้อยอย่างเหมาะสม จะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชาวไร่อ้อย นอกเหนือจากรายได้จากการจำหน่ายอ้อยโดยตรง ซึ่งนอกจากจะสร้างความยั่งยืนด้านรายได้ให้กับชาวไร่อ้อย ยังส่งผลดีต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องทั้งระบบ โดยในส่วนของโรงงานน้ำตาล ก็จะมีวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำมาทดแทนการใช้กากชานอ้อยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และทำให้สามารถนำกากชานอ้อยไปพัฒนาต่อยอดเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าทดแทนอาทิ เฟอร์นิเจอร์ และบรรจุภัณฑ์กระดาษที่ย่อยสลายได้ ซึ่งกำลังเป็นกระแสความนิยมที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่โรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีอยู่จำนวนมาก (ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลประมาณ 3,157 MW ในปี 2560 และเฉพาะของโรงงานน้ำตาลเองก็มีกำลังผลิตประมาณ 1,734 MW ขณะที่ตามเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทน จะต้องมีโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลจำนวน 5,570 MW ในปี 2579) ดังนั้นการสนับสนุนให้มีการรวบรวมเศษใบและยอดอ้อยเพื่อนำมาเพิ่มมูลค่า จะช่วยให้โรงไฟฟ้าชีวมวล สามารถเดินเครื่องอย่างเต็มประสิทธิภาพ และมีความมั่นคงทางด้านวัตถุดิบในอนาคตด้วย

หากพิจารณาห่วงโซ่การผลิตอ้อยและน้ำตาลพบว่า อ้อย 1 ตัน จะได้ผลิตภัณฑ์ต่างๆที่สร้างมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจค่อนข้างสูง อาทิ ได้น้ำตาลเฉลี่ยประมาณ 100-110 กิโลกรัม กากน้ำตาลประมาณ 45-50 กิโลกรัม นำไปผลิตเอทานอล แอลกอฮอล์ ผงชูรส ซอส น้ำส้มสายชู อาหารสัตว์ และได้กากชานอ้อยประมาณ 280-290 กิโลกรัม ซึ่งนำมาผลิตเยื่อกระดาษ บรรจุภัณฑ์จานชาม แผ่นไม้ทำเฟอร์นิเจอร์ และใช้มากที่สุดคือเป็นเชื้อเพลิงผลิตไอน้ำในขั้นตอนผลิตน้ำตาล และใช้ในโรงไฟฟ้า โดยชานอ้อย 280-290 กิโลกรัม สามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึงประมาณ 100 กิโลวัตต์ชั่วโมง

สำหรับในส่วนของเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยวอ้อยอันได้แก่ใบและยอดอ้อย ซึ่งสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้เช่นเดียวกัน โดยอ้อย 1 ตัน จะได้ใบและยอดอ้อยรวมประมาณ 170 กิโลกรัม และเนื่องจากใบและยอดอ้อยมีค่าความร้อนที่สูงกว่ากากชานอ้อย ทำให้เป็นที่ต้องการของโรงงานไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล โดยมีการรับซื้อใบและยอดอ้อย โดยให้ราคาประมาณ 650 บาทต่อตันในกรณีซื้อในไร่ (เกษตรกรเป็นผู้รวบรวมเอง)

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาปริมาณใบและยอดอ้อยที่เกิดขึ้น ยังไม่ได้ถูกนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าเท่าที่ควร เนื่องจากปริมาณอ้อยที่ถูกส่งเข้าโรงงานน้ำตาล ส่วนใหญ่เป็นอ้อยไฟไหม้เฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 65.0 ของปริมาณอ้อยเข้าโรงงานทั้งหมด และมีการตัดอ้อยสดเพียงร้อยละ 35.0 (เฉลี่ยปีการผลิต 2551/52-2560/61) และแม้ว่าภาครัฐจะได้มีการรณรงค์และมีมาตรการหักเงินค่าอ้อย 30 บาทต่อตัน สำหรับอ้อยไฟไหม้ที่ส่งเข้าโรงงาน และนำเงินที่ได้มาเฉลี่ยให้กับเกษตรกรที่ตัดอ้อยสดก็ตาม แต่สัดส่วนอ้อยไฟไหม้มีทิศทางที่เพิ่มขึ้นตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ใบและยอดอ้อยส่วนใหญ่ถูกเผาทิ้งไประหว่างการเก็บเกี่ยว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การตัดอ้อยไฟไหม้ได้รับความนิยม เกิดจากระยะเวลาการตัดอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลอยู่ในช่วงสั้นๆ ประมาณ 4-5 เดือน (ธันวาคม-เมษายน) ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง ทำให้จำเป็นต้องเร่งตัดอ้อยในช่วงดังกล่าว ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทำให้เกิดการเผาไร่อ้อยเพื่อให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยว และลดปัญหาการใช้แรงงานจำนวนมาก ขณะที่แรงงานตัดอ้อยส่วนใหญ่ก็เลือกรับจ้างตัดอ้อยไฟไหม้มากกว่า เนื่องจากสะดวกและได้ค่าแรงต่อวันดีกว่า ขณะที่การตัดอ้อยสดจะใช้เครื่องจักรในการตัดเป็นส่วนใหญ่ และมีพื้นที่ส่วนน้อยที่ยังคงใช้แรงงาน

ในการตัดอ้อยสด ขณะเดียวกัน ใบและยอดอ้อยที่เกิดจากการตัดอ้อยสด ส่วนใหญ่ก็ถูกเผาทิ้งเพื่อลดผลกระทบจากไฟที่อาจไหม้และลามสร้างความเสียหายให้กับตออ้อยที่กำลังงอกขึ้นมาใหม่ รวมถึงบางส่วนก็มีการไถกลบในไร่เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่เพาะปลูก และมีเพียงส่วนน้อยที่ถูกเก็บรวบรวมส่งเข้าโรงไฟฟ้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าเชิงเศรษฐกิจในส่วนของใบและยอดอ้อยที่เกิดขึ้นในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมาตกปีละไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท เฉพาะปีการผลิตล่าสุด 2560/61 จากปริมาณอ้อย 134.93 ล้านตัน พบว่ามีใบและยอดอ้อยประมาณ 22.94 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าถึงประมาณ 15,000 ล้านบาท (รายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายประมาณ 6,800 ล้านบาท) แต่การตัดอ้อยไฟไหม้ที่มีสัดส่วนสูง ประกอบกับการเก็บรวบรวมใบและยอดอ้อย ส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรรายใหญ่ ที่มีความพร้อมทางด้านการตัดอ้อยสดด้วยรถตัด และมีเครื่องมือรวบรวมใบและยอดอ้อย ส่งผลให้ศักยภาพการเก็บรวบรวมใบและยอดอ้อยในปัจจุบันมีเพียง 3-4 ล้านตัน คิดเป็นรายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายเพียงประมาณ 1,000 ล้านบาท

ดังนั้น การบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้งในไร่อ้อยอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในส่วนของการลดสัดส่วนอ้อยไฟไหม้ลง รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บรวบรวมใบและยอดอ้อยในพื้นที่ตัดอ้อยสด โดยการสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกันในรูปกลุ่มสหกรณ์ เพื่อจัดซื้อเครื่องจักรเก็บใบและยอดอ้อยส่งจำหน่ายให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งกำลังประสบปัญหาเชื้อเพลิงวัตถุดิบที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เสริมนอกเหนือจากรายได้จากการจำหน่ายอ้อยได้เพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ