นายนฤมิต คินิมาน ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.เตรียมเข้าร่วมการประชุมใหญ่ระดับโลกด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC หรือ การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 24 หรือ COP24 โดยมีผู้นำจากประเทศสมาชิกเข้าร่วมประชุมเกือบ 200 ประเทศ ระหว่างวันที่ 3-14 ธันวาคม 2561 ณ เมืองคาโตวีตเซ สาธารณรัฐโปแลนด์
ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการ กฟผ. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กฟผ.ในฐานะผู้แทนภาคการผลิตพลังงานและไฟฟ้าของไทยภายใต้กระทรวงพลังงานได้ดำเนินโครงการและกำหนดมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ตาม 4 มาตรการหลัก ได้แก่ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โรงไฟฟ้าเทคโนโลยีสะอาด การปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า และการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานและติดฉลากอุปกรณ์เบอร์ 5 ซึ่งสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้กว่า 4.39 ล้านตันภายในปี 2560 (สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะลดให้ได้ 4 ล้านตันภายในปี 2563) นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการในด้านอื่น ๆ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ โครงการห้องเรียนสีเขียวและชุมชนสีเขียว โดย กฟผ.ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ส่งเสริมให้เยาวชนรู้จักการอนุรักษ์และใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า และได้ต่อยอดไปสู่โครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการโรงเรียนสีเขียว โครงการโรงเรียนคาร์บอนต่ำ ศูนย์การเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และชุมชนประหยัดพลังงานเบอร์ 5 จนประสบผลสำเร็จทำให้การใช้พลังงานของโรงเรียนและชุมชนที่ร่วมกิจกรรมลดลงถึง 8,684,947 กิโลวัตต์ต่อชม. สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ 4,692,576 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ และส่งผลให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมลดลงถึง 40,260,357 บาท
สำหรับการประชุม COP24 ในปีนี้ กฟผ. เตรียมนำเสนอผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของโครงการห้องเรียนสีเขียวและชุมชนสีเขียว ในเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ Green Learning Room Project: Sustainable Energy and Environmental Conservation Awareness in Thailand โดยมีผู้แทนจาก สพฐ. และผู้แทนจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ร่วมเสวนาด้วย ทั้งนี้ โครงการห้องเรียนสีเขียวนับเป็นการช่วยเตรียมความพร้อมให้เยาวชนรู้จักรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และถือเป็นความสำเร็จอีกรูปแบบหนึ่งของ กฟผ.ที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างยั่งยืน