(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน พ.ย.61 โต 0.94% ส่วน Core CPI โต 0.69%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 3, 2018 12:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เดือนพ.ย. 61 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) อยู่ที่ 102.40 ขยายตัว 0.94% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.22% จากเดือน ต.ค.61

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน พ.ย.61 อยู่ที่ 102.29 ขยายตัว 0.69% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และทรงตัวในระดับเดียวกันเมื่อเทียบเดือน ต.ค.61

ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 102.99 ขยายตัว 1.04% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.35% เมื่อเทียบเดือน ต.ค.61 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 102.08 ขยายตัว 0.87% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.56% เมื่อเทียบเดือน ต.ค.61

ทั้งนี้ ส่งผลให้ในช่วง 11 เดือนของปี 61 (ม.ค.-พ.ย.) CPI ขยายตัวเฉลี่ย 1.13% ส่วน Core CPI เฉลี่ย 11 เดือน ขยายตัว 0.71%

สำหรับเงินเฟ้อปี 61 คาดว่า จะอยู่ที่ 1.12% ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ที่ 1-4%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือน พ.ย.61 เพิ่มขึ้น 0.94% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยมีสาเหตุสำคัญจากราคาสินค้าหมวดพลังงานที่เพิ่มขึ้นในลักษณะที่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ราคาสินค้าในหมวดอาหารสดเพิ่มขึ้น 0.33% จากฐานราคาที่ต่ำของข้าว, เนื้อสัตว์ และไข่ไก่ จากปริมาณผลผลิตที่มากในปีก่อน โดยเมื่อหักสินค้าในกลุ่มอาหารสดและพลังงานแล้ว ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือน พ.ย.61 ขยายตัว 0.69%

"เงินเฟ้อในเดือน พ.ย.ยังขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 แต่เป็นการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะเศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ลดลงค่อนข้างเยอะในเดือน พ.ย.เลยดึงเงินเฟ้อต่ำลงไป" น.ส.พิมพ์ชน กระบุ

ทั้งนี้ ในเดือน พ.ย.61 มีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้ สินค้าและบริการที่ราคาสูงขึ้น มี 222 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า, เนื้อสุกร, มะนาว, ค่าเช่าบ้าน, ก๊าซหุงต้ม และน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ส่วนสินค้าและบริการที่ราคาลดลง มี 117 รายการ เช่น ไก่สด, ข้าวสารเหนียว, กุ้งขาว, น้ำยาปรับผ้านุ่ม, ยาสีฟัน, สบู่ และโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ขณะที่สินค้าและบริการที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง มี 83 รายการ

น.ส.พิมพ์ชนก ระบุว่า โดยภาพรวมอัตราเงินเฟ้อ 11 เดือนปีนี้ได้รับอิทธิพลสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของทั้งราคาพลังงาน และความต้องการบริโภค รวมทั้งผลจากด้านการผลิตของภาคเกษตรที่มีความผันผวนตามสภาพอากาศแผนการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อยังเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายปีนี้ของกระทรวงพาณิชย์ที่ตั้งไว้ที่ 0.8-1.6% โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 1.12% และอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-4%

"เงินเฟ้อปีนี้เข้ากรอบของธนาคารแห่งประเทศไทยแน่นอน เราคิดว่าทั้งปีนี้น่าจะอยู่ที่ 1.12% ถ้าเดือนถัดไป (ธ.ค.) เพิ่มอยู่ในระดับนี้ ทั้งปีก็ยังอยู่ในกรอบ...ช่วงปลายปีราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น ช่วยทำให้ความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายดีขึ้น สอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาลที่ออกมาช่วยสนับสนุนภาคเกษตรด้วย" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

พร้อมระบุว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะกรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่ล่าสุดสหรัฐฯ ได้เลื่อนการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ออกไป 90 วัน จากกำหนดเวลาเดิมในวันที่ 1 ม.ค.62 ตลอดจนสัญญาณเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมทั้งทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ปัจจัยด้านราคาพลังงานและความต้องการบริโภคที่ยังมีแรงส่งต่อเนื่องเป็นปัจจัยหลัก รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรสำคัญมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเป็นปัจจัยสนับสนุน จึงคาดว่าปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อเนื่องให้เงินเฟ้อในช่วงไตรมาสแรกของปี 62 เพิ่มขึ้นในลักษณะที่ชะลอตัว โดยประมาณการกรอบเงินเฟ้อทั่วไป ปี 62 จะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.7-1.7% และมีค่ากลางที่ 1.2%

ทั้งนี้ สมมติฐานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 62 มาจาก 1.อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 62 ขยายตัวได้ 3.5-4.5% 2. ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยทั้งปีที่ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และ 3.อัตราแลกเปลี่ยนทั้งปีที่ 32.50-33.50 บาท/ดอลลาร์

"ปีหน้า ปัจจัยยังหนีไม่พ้นเรื่องพลังงาน และราคาสินค้าเกษตร รวมทั้งการลงทุนภาครัฐ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเราหวังว่าจะมีเม็ดเงินลงไปในระดับท้องถิ่นมากขึ้น ช่วยให้ประชาชนในต่างจังหวัดมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และปีหน้าหากสงครามการค้าไม่มีความรุนแรงมาก จะช่วยให้เศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพมากขึ้น ไม่กดดันค่าเงินบาทให้แข็งค่าหรืออ่อนค่ามากไป" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

ส่วนมาตรการช้อปช่วยชาติที่รัฐบาลเตรียมจะประกาศใช้ในช่วงกลางเดือนธ.ค.นี้ น่าจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อในประเทศได้มากขึ้นในช่วงปลายปี และเชื่อว่าจะไม่มีผลให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้า

"ที่รัฐบาลจะให้นั้นเป็นการเพิ่มกำลังซื้อ เพิ่มการใช้จ่าย จริงๆ รัฐบาลก็อยากจะช่วยเรื่องลดต้นทุนการใช้จ่าย เพราะการช่วยเรื่องค่าครองชีพ ก็มี 2 ฝั่ง คือลดต้นทุน กับเพิ่มเงินเพิ่มรายได้ในการใช้จ่าย แต่การลดต้นทุนอาจเป็นมาตรการที่ต้องใช้เวลา ดังนั้นรัฐบาลจึงออกเป็นมาตรการที่ช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนมากขึ้นในช่วงปีใหม่ เชื่อว่าคงไม่ส่งผลให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ