นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เรียกประชุมคณะทำงานเตรียมการพิจารณาเข้าร่วม CPTPP ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 30 หน่วยงาน โดยเป็นการประชุมครั้งที่ 3 ซึ่งมีตนเองเป็นประธาน โดยได้รับทราบสถานะล่าสุดของความตกลง CPTPP ว่าความตกลงจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 30 ธันวาคม 2561 ซึ่งปัจจุบันมีประเทศสมาชิก CPTPP ที่ให้สัตยาบันความตกลงฯ แล้วทั้งสิ้น 7 ประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย และเวียดนาม
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้ได้มีการประเมินเบื้องต้นถึงผลประโยชน์และผลกระทบต่อการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ของไทยจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และได้ร่วมกันให้ความเห็นถึงประเด็นข้อกังวล ตลอดจนการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าหากไทยตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ในอนาคตก็จะต้องเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ อีกทั้งได้หารือแผนการดำเนินการต่อไปในอนาคต ซึ่งประกอบด้วย 1) การรายงานข้อมูลและความคืบหน้าเพื่อเสนอต่อรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เพื่อพิจารณาแนวทางดำเนินการของไทยในเรื่องนี้ต่อไป 2) การจัดสัมมนาและหารือกลุ่มย่อย เพื่อเผยแพร่ข้อมูล และชี้แจงให้ทุกภาคส่วนคลายความกังวล โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม และ 3) การหารือกับสมาชิก CPTPP เพื่อความชัดเจนในประเด็นที่หน่วยงานของไทยยังมีข้อสงสัย ตลอดจนรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการของสมาชิก CPTPP เพื่อประกอบการเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้องสำหรับไทยต่อไป
ทั้งนี้ CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในหลายมิติทั้งเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายนักธุรกิจชั่วคราว การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน แรงงาน และสิ่งแวดล้อม โดยมีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ล่าสุด มีประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เพิ่มเติม เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อังกฤษ จีนไทเป (ไต้หวัน) และโคลอมเบีย เป็นต้น
สำหรับการเตรียมการของไทยนั้น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้เดินสายจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในทั่วทุกภูมิภาค เพื่อรับฟังความเห็นทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคไปแล้วจำนวน 5 ครั้ง ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน 2561 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจาก 40 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งหมดกว่า 1,400 คน โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมเป็นวิทยากร ชี้แจง สร้างความเข้าใจในประเด็นที่ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคเกษตร ประชาสังคม และสาธารณสุข ยังมีข้อกังวล รวมทั้งมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เช่น การนำเข้าพืช GMO การนำประเด็นอ่อนไหวกลับมาใช้ใหม่หากสหรัฐฯ เข้าร่วม CPTPP เป็นต้น