BAY มองเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 32.70-33.05 คาดตลาดเกิดใหม่มีแรงหนุน หลังจีน-สหรัฐฯยุติสงครามการค้าชั่วคราว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 3, 2018 14:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มองว่าสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่จะได้รับแรงหนุนจากข้อตกลงระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่จะระงับการปรับขึ้นภาษีนำเข้า ขณะที่ทั้งสองฝ่ายพยายามจะลดความขัดแย้งด้วยการเจรจาครั้งใหม่และตั้งเป้าที่จะบรรลุข้อตกลงกันให้ได้ภายใน 90 วัน ทั้งนี้ ทำเนียบขาวประกาศว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ได้แจ้งต่อประธานาธิบดีสีว่าจะไม่ปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าที่เรียกเก็บจากสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 25% ในวันที่ 1 มกราคม 2562 ส่วนทางด้านรัฐบาลจีนตกลงที่จะซื้อสินค้าเกษตร พลังงาน อุตสาหกรรม และสินค้าอื่นๆ จากสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก ท่าทีดังกล่าวช่วยลดความตึงเครียดด้านการค้าโลกซึ่งเป็นประเด็นกดดันการลงทุนมาตลอดปีนี้

สำหรับมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.70-33.05 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 32.89 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยมองว่าสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่จะได้รับแรงหนุนจากข้อตกลงระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่จะระงับการปรับขึ้นภาษีนำเข้า ขณะที่ทั้งสองฝ่ายพยายามจะลดความขัดแย้งด้วยการเจรจาครั้งใหม่และตั้งเป้าที่จะบรรลุข้อตกลงกันให้ได้ภายใน 90 วัน

ส่วนปัจจัยชี้นำถัดไปจะอยู่ที่ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ รวมทั้งตัวเลขตลาดแรงงานซึ่งจะส่งผลต่อการคาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯ นอกจากนี้ แถลงการณ์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ว่าดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้อยู่ต่ำกว่าดอกเบี้ยที่เป็นกลางเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้นักลงทุนตีความว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยช้าลงและวัฏจักรการคุมเข้มนโยบายอาจใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว

ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ นักลงทุนจะติดตามการเปิดเผยข้อมูลอัตราเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายนซึ่งคาดว่าจะอ่อนตัวลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2561 ว่าจะสามารถเติบโตไม่ต่ำกว่า 4% จากแรงหนุนของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน แต่ประเมินว่ามีโอกาสน้อยลงที่การส่งออกจะขยายตัวได้ถึง 8% ในปีนี้ ส่วนในปี 2562 ธปท.คาดว่าผลบวกจากโครงการการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และความชัดเจนหลังการเลือกตั้ง รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะกลับมาเป็นปกติจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ