นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามที่คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) มีมติให้ดำเนินมาตรการเร่งด่วน ช่วยเหลือค่าครองชีพเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน โดยกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบโครงการฯ ซึ่งจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ งบประมาณรวมกว่า 3,458.20 ล้านบาท
โดยแบ่งเป็นงบที่จ่ายให้ เกษตรกร 3,375 ล้านบาท งบชดเชยต้นทุนเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งจะสำรองจ่ายเงินให้เกษตรกรไปก่อน อัตราต่ำสุดของอัตราดอกเบี้ยฝากประจำ 6 เดือน (FDR)+1 รวม 73.4 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายดำเนินการของธ.ก.ส.รวม 1.5 ล้านบาท และงบบริหารโครงการ วงเงิน 8.3 ล้านบาท
สำหรับค่าครองชีพดังกล่าว จะจ่ายให้ชาวสวนปาล์ม ที่มีปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตแล้ว (อายุมากกว่า 3 ปี) 150,000 ราย พื้นที่รวมทั่วประเทศ 2.25 ล้านไร่ โดยเป็นการช่วยเหลือตามพื้นที่ปลูกจริง ในอัตราไร่ละ 1,500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันกับกรมส่งเสริมการเกษตรภาย ในเดือน ธ.ค.61 กรณีที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ให้มาปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ และจังหวัด
ทั้งนี้ เกษตรกรที่จะได้รับความช่วยเหลือต้องปลูกปาล์มในพื้นที่มีเอกสารสิทธิ รวมถึงปลูกในพื้นที่ให้สิทธิตามหนังสือของกรมป่าไม้ 47 รายการ วงเงิน 3,375 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรสามารถรักษาคุณภาพผลผลิตไว้ได้ ไม่ต้องรีบตัดปาล์มขาย มีระยะเวลาให้ผลปาล์มสะสมน้ำมันได้มากกว่าร้อยละ 18 ตามมาตรฐานจึงค่อยตัด
พร้อมกันนั้น ครม.ยังมีมติอนุมัติให้ ธ.ก.ส.ใช้งบประมาณ 159.59 ล้านบาท ดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีบุหรี่ โดยต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบที่ได้รับโควตาในฤดูการผลิต 2561/2562 ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้กับการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) และกรมสรรพสามิต จำนวน 13,557 ราย
"เป็นนโยบายระยะสั้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ แต่ในระยะยาวนายกรัฐมนตรีให้นโยบายส่งเสริมการปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน หรือสนับสนุนเกษตรกรที่มีความพร้อมไปประกอบอาชีพอื่น" นายณัฐพร กล่าว
ทั้งนี้ จะมีคณะกรรมการพิจารณาการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบจะทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและประเมินเงินช่วยเหลือ โดยรัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือในอัตราร้อยละ 70 ของรายได้ที่หายไป ซึ่งคำนวณจากโควตาการผลิตใบยาที่ลดลงจากฤดูการผลิตที่แล้วเทียบกับปริมาณโควตาที่ได้รับจัดสรรในฤดูการผลิตนี้
โดยใบยาสูบประเภทเวอร์จิเนีย มีโควตารับซื้อลดลง 4.36 ล้านกิโลกรัม (กก.) จะได้รับเงินช่วยเหลือ 17.50 บาท/กก. รวมเป็นเงิน 76.3 ล้านบาท ใบยาสูบประเภทเบอร์เลย์ มีโควตารับซื้อลดลง 5.27 ล้าน กก.จะได้รับเงินช่วยเหลือ 9.80 บาท/กก. รวมเป็นเงิน 51.65 ล้านบาท และใบยาสูบประเภทเตอร์กีส มีโควตารับซื้อลดลง 2.26 ล้าน กก.จะได้รับเงินช่วยเหลือ 14.00 บาท/กก. รวมเป็นเงิน 31.64 ล้านบาท รวมแล้วใช้งบประมาณทั้งสิ้น 159.59 ล้านบาท