ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน พ.ย.61 อยู่ที่ 80.5 จาก 81.3 ในเดือน ต.ค.61 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เนื่องจากมีความกังวลเรื่องสงครามการค้า และนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 67.5 จาก 68.4 ในเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 75.6 จาก 76.5 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 98.4 จาก 99.0
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในเดือน พ.ย.61 ได้แก่ ปัญหานักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยน้อยกว่าปกติ, ความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า, ราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ยังทรงตัวในระดับต่ำ, ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและยังกระจุกตัว และ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ระบุอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ไตรมาส 3/61 ขยายตัว 3.3% ชะลอตัวจากไตรมาส 2/61 ที่ขยายตัวได้ 4.6%
ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5%, ส่งออกเดือนต.ค.กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 8.7%, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง และค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน พ.ย.61 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรหลายรายการยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน จนทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการมาช่วยแก้ปัญหา นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยลดลงก็ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่เด่นชัด
ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 3/61 เติบโตเพียง 3.3% ถือว่าชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ทำให้หลายสำนักวิจัยได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้าลง รวมทั้งกรณีปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ประชาชนยังมีความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยในอนาคต ตลอดจนสถานการณ์ทางการเมืองที่คนยังมีความกังวลและมองภาพทางการเมืองยังไม่ชัดเจนนัก ซึ่งมีผลบั่นทอนต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค
"ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลให้คนรู้สึกว่าความเชื่อมั่นยังไม่ดี เศรษฐกิจยังไม่โดดเด่น ข้อมูลที่หลายสำนักปรับลดคาดการณ์ GDP ในปีนี้และปีหน้าลง ก็ยิ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภค คนจึงเห็นว่าเศรษฐกิจในปัจจุบันยังมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่ ก.ย. และตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน พ.ย.ที่ยังขยายตัวได้ต่ำกว่า 1% ทำให้เห็นว่ากำลังซื้อยังไม่กลับมา" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า การปรับตัวของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพ.ย.นี้ ลดลงค่อนข้างมากสำหรับดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบัน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลงน้อย เนื่องจากปัจจัยบวกเริ่มมีมากขึ้น ส่วนตัวที่เป็นปัจจัยลบ อย่างเช่น ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นบ้าง สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเริ่มมีการเจรจากัน ประกอบกับรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านการยกเว้นค่าธรรมเนียม VISA on Arrival และมาตรการช็อปช่วยชาติ น่าจะทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้นี้ และน่าจะส่งผลบวกต่อการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลปีใหม่
"เดือน ธ.ค.ความเชื่อมั่นน่าจะปรับตัวขึ้น ส่วนหนึ่งคงเป็นผลจากมาตรการช็อปช่วยชาติที่เข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปีใหม่ ประกอบกับนักท่องเที่ยวน่าจะกลับมาคึกคักในช่วงปลายปี ต่อด้วยการเตรียมการช่วงก่อนเลือกตั้ง ดังนั้น จึงเชื่อว่าความเชื่อมั่นในเดือนธ.ค.จะดีขึ้น เพียงแต่คนอาจจะยังระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย" นายธนวรรธน์ ระบุ
ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/61 จะขยายตัวได้ 3.5-4% โดยได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงปลายปี, การท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาคึกคักขึ้นในช่วงไฮซีซั่น ตลอดจนราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าลิตรละ 30 บาท โดยทั้งปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 4.2% ขณะที่ในปี 62 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 4-4.5%