นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประเมินทิศทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าในปีหน้า คาดว่าจะชะลอตัวลงค่อนข้างมากในช่วงครึ่งปีแรก โดยจะกระเตื้องขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจโลกจะอยู่ที่ระดับ 3.6-3.7% คาดว่าปริมาณการค้าโลกเติบโตได้ที่ 3.8% การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกโดยภาพรวมเมื่อเทียบกับปี 2561 เกิดจากภาวะเงินที่ตึงตัวขึ้นจากสภาพคล่องในระบบการเงินโลกลดลง ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ผลกระทบจาก Brexit และการแยกตัวออกจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ความตึงเครียดและผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา
ส่วนทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2562 คาดว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็นจากโครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม มีอำนาจผูกขาดสูง ความเหลื่อมล้ำสูง เศรษฐกิจฐานรากอ่อนแอด้วยรายได้ไม่เพียงพอและก่อหนี้สูง ปัจจัยความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะคุณภาพทรัพยากรมนุษย์อ่อนแอ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองที่มีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน
ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยก้าวจาก "ระบอบรัฐประหาร" สู่ "ระบอบกึ่งประชาธิปไตย" และจัดให้มีการเลือกตั้ง ย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการลงทุนมากกว่าระบอบรัฐประหาร อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวขึ้นของภาคการบริโภคและภาคการลงทุนต่อเนื่องจากปีนี้ บวกเข้ากับแรงส่งจากภาคการค้าการลงทุนระหว่างประเทศและภาคการท่องเที่ยว จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระดับ 3.3-4% เป็นอัตราการขยายตัวที่ชะลอตัวลงจากปีนี้ไม่มากนัก สังคมไทยเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเล็กน้อยในปีหน้า โดยคาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคจะอยู่ที่ 1.2-1.7% การบริโภคโดยรวม ขยายตัวที่ระดับ 3.3% การลงทุนโดยรวม ขยายตัวที่ 4.5-5.5% การส่งออก ขยายตัว 5.5% การนำเข้า ขยายตัว 6.5% ทำให้ประเทศไทยยังคงเกินดุลการค้าที่ระดับ 26-32 พันล้านดอลลาร์ และเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP อยู่ที่ 6.5%
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศจะปรับตัวสูงขึ้น ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะทำให้เงินบาทแข็งค่าจากการเกินดุลการค้าและเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ขณะที่ปัจจัยทางการเมืองและเงินทุนระยะสั้นไหลออก จะสร้างแรงกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ในบางช่วง
ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อภาคการลงทุนและเศรษฐกิจต่อไปในปีหน้า และปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองจะยังมีความไม่แน่นอนต่อไปจนกว่าสังคมไทยจะสามารถสถาปนาความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยได้ ปัญหาการแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจ (Rent Seeking) เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในรัฐบาล ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา