นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 62 จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงเป็นเติบโต 4% ลดลงจากปีนี้ที่คาดว่าขยายตัวได้ 4.3% ซึ่งได้รับผลกระทบหลักมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ยังคงเป็นปัจจัยกดดันกระทบมาถึงภาคการส่งออกของไทยด้วย แม้ว่าจะมีการระงับการขึ้นภาษีชั่วคราวมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ยังมีความเสี่ยงว่าการเจรจาอาจจะไม่บรรลุผล และจีนไม่สามารถทำตามข้อตกลงได้หมดภายในระยะเวลาอันสั้น ส่งผลให้สหรัฐฯอาจขึ้นภาษีในวันที่ 1 มี.ค. 62 ได้ ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ประเมินว่าจะส่งผลต่อการค้าโลกในปี 62 จะเติบโตลดลงมาที่ 3.7% จากปีนี้ที่โต 3.9% และภาคการส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ามูลค่ารวม 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งทำให้การส่งออกในปี 62 เติบโตลดลงมาที่ 4.5% จากปีนี้โต 7.7%
อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวไทยยังเป็นอีกปัจจัยที่ยังต้องติดตามเกี่ยวกับสถานการณ์นักท่องเที่ยวชาวจีนว่าจะมีโอกาสกลับมาท่องเที่ยวไทยได้มากขึ้นหรือไม่ในปี 62 หลังจากปี 61 นักท่องเที่ยวจีนลดลงไปเป็นจำนวนมาก กดดันต่อภาคการท่องเที่ยวไทยอย่างมีนัยสำคัญ เพราะนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เดินทางเข้าท่องเที่ยวในประเทศไทย
ทั้งนี้ ประเมินว่าในปี 62 ภาคการท่องเที่ยวไทยจะเติบโต 3.1% ลดลงจากปีนี้ที่โต 6.5% โดยที่จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 62 คาดว่าอยู่ที่ 39 ล้านคน ลดลงจากปีนี้ที่ 40 ล้านคน ส่วนนักท่องเที่ยวชาวจีนคาดว่าจะกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลังของปี 62 เพราะสถานการณ์ต่างๆที่ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนกังวลเริ่มคลี่คลาย และการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวไทยจากภาครัฐเริ่มเห็นผล ซึ่งคาดว่านักท่องเที่ยวชาวจีนในปี 62 จะเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยเป็น 10.7 ล้านคน จากปีนี้ที่ 10.4 ล้านคน แต่การท่องเที่ยวไทยยังมีนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆที่เดินทางเข้ามา เช่น มาเลเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น และรัสเซีย รวมไปถึงไทยเที่ยวไทย
ส่วนปัจจัยสนับสนุนต่อเศรษฐกิจไทยในปี 62 อย่างมีนัยสำคัญ คือ การลงทุนภาครัฐและเอกชน ที่ปัจจุบันการประมูลโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐเริ่มเดินหน้าอย่างชัดเจนมากขึ้น และทำให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่น จึงเริ่มมีการลงทุนมากขึ้น ซึ่งหากปี 62 ภาครัฐมีการเบิกจ่ายเป็นไปตามแผนก็จะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย
สำหรับการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ หากเป็นไปอย่างราบรื่นจะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการใช้จ่ายและลงทุนของประเทศ รวมถึงความต่อเนื่องของการผลักดันงบประมาณปี 63 ซึ่งจะช่วยให้การใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐยังเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญไปจนถึงครึ่งปีหลัง แต่การบริโภคภาคเอกชนในปี 62 อาจจะชะลอตัวลง หลังจากที่ปีนี้เร่งตัวขึ้นจากการซื้อรถยนต์ที่เป็นตัวผลักดันหลัก ทำให้ในปี 62 การบริโภคภาคเอกชนจะโตลดลงมาเป็น 3.6% จากปีนี้โต 4.5%
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยติดตามที่สำคัญ โดยคาดว่าคณะกรรมนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสมากขึ้นที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.25% ในการประชุมวันที่ 19 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นรอบสุดท้ายของปีนี้ เช่นเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ประชุมวันเดียวกัน หลังมีการส่งสัญญาณจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้
ในปี 62 มองว่ากนง.ยังมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีกในช่วงครึ่งปีหลังเมื่อผ่านพ้นช่วงการเลือกตั้ง หากสัญญาณของเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามการปรับดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ในช่วงครึ่งปีแรก จะคงเน้นการปรับเพิ่มของอัตราเงินฝากประจำพิเศษและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้านและกู้รถที่มีระยะค่อนข้างยาว ไม่ใช่เป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป เพราะสภาพคล่องยังมีอยู่มาก
ขณะที่แรงส่งสินเชื่อจะชัดเจนในครึ่งปีหลังมากกว่า แต่ด้วยเศรษฐกิจที่มีแรงส่งลดลง ทำให้เห็นสินเชื่อปี 62 ขยายตัวลดลงมาที่ 5% ชะลอลงจากปีนี้ขยายตัว 6% มาจากการชะลอตัวของสินเชื่อรายย่อยในกลุ่มสินเชื่อบ้านและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ที่เร่งตัวแรงมากในปี 61 แต่สินเชื่อไม่มีหลักประกัน เช่น บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ยังคงเห็นการเติบโตอยู่ เพราะหลายๆธนาคารต่างกระตุ้นให้ลูกค้าเบิกใช้วงเงิน และสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงเติบโตต่อเนื่องจากการลงทุนต่างๆ
ด้านสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของระบบธนาคารมีโอกาสแตะระดับสูงสุดครั้งใหม่ในช่วงระหว่างปี 62 ก่อนที่จะมาแตะระดับ 2.98% ในสิ้นปี 62 เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่ 2.91% ณ เพราะ NPL มักปรับตามหลังเศรษฐกิจราว 6 เดือน โดยสินเชื่อเอสเอ็มอีและบ้านยังเป็นกลุ่มที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ
นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มธุรกิจในปี 62 มองว่า กลุ่มค้าปลีกออนไลน์ โรงพยาบาลเอกชน และก่อสร้างภาครัฐ เป็นกลุ่มธุรกิจที่ยังมีอัตราการขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยแม้การเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซอาจมีผลต่อมาร์จิ้นฝั่งผู้ขายเมื่อมีความลงตัวของระบบที่เกี่ยวข้อง แต่โดยรวมธุรกรรมออนไลน์น่าจะยังเติบโตสูงตามเทรนด์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค
ขณะที่ธุรกิจที่คงเห็นการชะลอตัวในปีหน้า ได้แก่ เกษตร รถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 62 จะได้รับผลกระทบจากทั้งมาตรการคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของ ธปท.ที่เร่งกิจกรรมการโอนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 61 ถึงไตรมาส 1/62 และการปรับขึ้นดอกเบี้ย จึงทำให้คาดว่ายอดโอนอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จะหดตัว 5.6% จากปีนี้ที่ขยายตัวได้ 14% และจะเห็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะระมัดระวังการเปิดตัวโครงการใหม่มากขึ้น เพื่อรอดูสถานการณ์และการที่มีสินค้าคงเหลืออยู่ในตลาดสูงและลดลงไม่มาก ซึ่งคาดว่าปี 62 สินค้าคงเหลือในกลุ่มที่อยู่อาศัยจะลดลงมาที่ 180,000 ยูนิต จากปีนี้ที่ 190,000 ยูนิต
ส่วนราคาน้ำมันดิบในปี 62 คาดว่าจะลดลงมาที่ 68 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล จากปีนี้ที่ 70 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ซึ่งมีแรงกดดันราคาน้ำมันดิบมาจากซัพพลายน้ำมันดิบของสหรัฐฯยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และการเจรจาลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ยังไม่ได้ข้อสรุป ประกอบกับปี 62 สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัว ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง แต่ซัพพลายน้ำมันในตลาดยังมีมาก ทำให้กดดันราคาน้ำมันลดลง และยังไม่เห็นสัญญาณที่จะเป็นแรงส่งให้ราคาน้ำมันดิบกลับขึ้นไปแตะ 100 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรลได้