ศูนย์วิจัยกสิกร มองแนวโน้มบาทแข็งค่าแตะ 33.00 และ 32.50 ช่วงครึ่งปีแรก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 15, 2008 11:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 จากปัจจัยกระแสการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ แรงเทขายเงินดอลลาร์ของผู้ส่งออก ตลอดจนความแข็งแกร่งของสกุลเงินในภูมิภาค ซึ่งหากเงินบาทยังคงรักษาอัตราการแข็งค่าเช่นเดียวกับในช่วงต้นปี 2551 ก็มีแนวโน้มว่าอาจขึ้นไปทดสอบระดับ 33.00 และ 32.50 บาท/ดอลลาร์ภายในครึ่งแรกของปี 2551
เงินบาทมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากในปี 2549 และ 2550 โดยเริ่มต้นปี 2551 ด้วยการเดินหน้าขึ้นทุบสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 10 ปี และปิดตลาดในประเทศ ณ วันที่ 14 มกราคม 2551 ที่ระดับ 33.13 บาท/ดอลลาร์ นับเป็นการปรับตัวแข็งค่าขึ้นแล้วร้อยละ 1.7 จากระดับปิดตลาดสิ้นปี 2550
ปัจจัยที่สนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงต้นปี 2551 ยังคงเป็นปัจจัยที่คล้ายคลึงกับปีก่อน ได้แก่ แรงเทขายเงินดอลลาร์ ของผู้ส่งออก กระแสการแข็งค่าของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ จากแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทนับตั้งแต่ต้นปี 2551 ยังคงเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินอื่นๆ ส่วนใหญ่ในภูมิภาค ท่ามกลางแรงเทขายเงินดอลลาร์อย่างหนักจากแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ เงินบาทได้ทะยานขึ้นทำสถิติสูงสุดรอบ 10 ปี ในขณะที่ เงินเปโซของฟิลิปปินส์พุ่งขึ้นทำลายสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 7 ปีครึ่ง ส่วนเงินดอลลาร์สิงคโปร์และเงินริงกิตมาเลเซียก็ได้ปรับตัวขึ้นทุบสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 10 ปีเช่นกัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การแข็งค่าของเงินบาทจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการเข้าดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค เพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันของภาคส่งออก และสกัดแรงเก็งกำไร ขณะที่การไหลออกของเงินทุนต่างชาติหลังจากการเทขายสุทธิหุ้นไทยนับจากต้นปี ตลอดจนการไหลออกของเงินทุนของสถาบันการเงินเพื่อลงทุนในตราสารทางการเงินในต่างประเทศยังคงเป็นประเด็นที่น่าจับตามองเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ปัจจัยแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาทนั้น ยังไม่สามารถให้ภาพที่ชัดเจนได้มากนัก ขึ้นกับเงื่อนไขหลายประเด็นประกอบกัน ได้แก่ ความเป็นไปได้ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่อาจทำให้เงินดอลลาร์สามารถดีดตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นได้หลังจากที่เผชิญแรงเทขายในช่วงครึ่งแรกของปี ซึ่งนั่นก็อาจทำให้แรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทลดน้อยลง
แต่ในขณะเดียวกัน ภาพทางการเมืองและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชัดเจนมากยิ่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อาจช่วยพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของภาคเอกชนกลับคืนมาและนั่นย่อมเป็นปัจจัยหนุนค่าเงินบาท และท้ายที่สุดประเด็นที่น่าจับตาเป็นพิเศษคือ ท่าทีของรัฐบาลใหม่ที่มีต่อมาตรการกันสำรอง 30% ที่จะมีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศและตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ