ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 จะอยู่ที่ประมาณ 30,800 ล้านบาท ขยายตัว 4.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากราคาสินค้าและอาหารที่แพงขึ้น และถึงแม้ว่าในปีนี้ มาตรการช็อปช่วยชาติจะไม่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ในทุกหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค (สามารถลดหย่อนได้เฉพาะหนังสือและสินค้า OTOP) รวมถึงการแจกเงินปีใหม่ 500 บาทให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ทยอยแจกในช่วงเดือนธันวาคม น่าจะกระจายตัวอยู่ในกลุ่มคนต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ แต่เชื่อว่าบรรดาผู้ประกอบการค้าปลีกก็น่าจะมีการโหมจัดกิจกรรมกระตุ้นการขายในทุกกลุ่มสินค้าต่อเนื่องไปตลอดทั้งช่วงเทศกาล
สำหรับเม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 แยกเป็นค่าใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่ม 9,400 ล้านบาท รองลงมาคือ ท่องเที่ยวในประเทศ (ค่าเดินทางกลับบ้าน เดินทางท่องเที่ยว รวมถึงค่าที่พัก) 8,800 ล้านบาท, ซื้อของขวัญ/ของฝาก 8,400 ล้านบาท, การให้เงินพ่อแม่/พี่น้องเป็นของขวัญปีใหม่ 2,100 ล้านบาท, ทำบุญ/ไหว้พระ 1,600 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ (อาทิ ดูหนัง ฟังเพลง บริจาคสิ่งของ) 500 ล้านบาท ทั้งนี้ งบประมาณใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 5,600 บาท เทียบกับปี 2561 ที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 5,400 บาท
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจคนกรุงเทพฯ ถึงเทศกาลปีใหม่ 2562 พบว่าส่วนใหญ่ 59% เลือกที่จะเฉลิมฉลองอยู่ในกรุงเทพฯ ใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่ 60% โดยให้เหตุผลว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่การจราจรค่อนข้างติดขัด คนหนาแน่น ทำให้ไม่สะดวกในการเดินทาง ประกอบกับความกังวลในเรื่องของกำลังซื้อที่ยังต้องระมัดระวังการใช้จ่าย อย่างไรก็ดี แม้ว่าคนจะเลือกอยู่ในกรุงเทพฯ แต่โดยภาพรวมแล้ว ส่วนใหญ่ก็ยังคงมีการวางแผนและเตรียมงบประมาณไว้ใช้จ่ายและทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อของขวัญและเลี้ยงสังสรรค์ถือเป็นกิจกรรมที่คนกรุงเทพฯ เลือกทำมากที่สุด ซึ่งยังคงเป็นโอกาสของบรรดาผู้ประกอบการค้าปลีกที่จะเร่งกระตุ้นยอดขายกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การมอบของขวัญให้แก่กันยังคงเป็นกิจกรรมที่คนกรุงเทพฯ กว่า 55% ของคนที่ทำแบบสำรวจเลือกทำในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 มากเป็นอันดับ 1 แต่ทั้งนี้ คนกรุงเทพฯ อาจจะวางแผนเน้นซื้อให้เฉพาะบุคคลสำคัญอย่างคนในครอบครัว รวมถึงการซื้อเพื่อนำมาร่วมจับฉลากภายในองค์กรหรือบริษัท ซึ่งประเภทของของขวัญที่ซื้อให้ในแต่ละกลุ่มก็มีความแตกต่างกันไป โดยของขวัญที่มอบให้คนในครอบครัวจะเน้นหมวดที่เกี่ยวกับสุขภาพเป็นหลัก เช่น กระเช้าของขวัญ สินค้าเพื่อสุขภาพ (วิตามินและอาหารเสริม) และเครื่องแต่งกาย ส่วนของขวัญที่ซื้อเพื่อจับฉลากจะเน้นที่การใช้งานและตอบโจทย์ได้กับคนทุกกลุ่มมากกว่า เช่น อุปกรณ์เสริมไอที (แบตเตอรี่สำรอง, แผ่นรองกันกระแทกหรือเคสโทรศัพท์, หูฟัง) อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และช็อคโกแลต/คุกกี้
ดังนั้น ผู้ประกอบการควรมีการจัดเตรียมสินค้า และทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดต่างๆ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า ถือเป็นแหล่งช็อปปิ้งที่คนกรุงเทพฯ เลือกไปซื้อของขวัญและทำกิจกรรมต่างๆ มากที่สุด ถึง 94% ของคนที่ทำแบบสำรวจ รองลงมา คือ ซูเปอร์มาร์เก็ต ชี้ให้เห็นว่าร้านค้าปลีกที่มีหน้าร้าน (Offline) ยังตอบสนองไลฟ์สไตล์ในการจับจ่ายของคนกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี เพราะมีสินค้าและบริการให้เลือกครบครัน และครอบคลุมความต้องการของคนทุกเพศทุกวัย (Life-style Mall) อย่างไรก็ดี กระแสช็อปปิ้งออนไลน์ (คนกรุงเทพฯ 28% เลือกใช้จ่ายผ่านช่องทางนี้) ก็ถือว่ามาแรงไม่น้อยเช่นกัน เพราะจากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างพบว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มหันมาจับจ่ายผ่านช่องทางนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น-วัยทำงาน ซึ่งการสั่งซื้อที่ได้ความนิยมสูงคือ การสั่งซื้อผ่านช่องทาง Social Commerce อาทิ Facebook/ Instagram/ Line เพราะมีการเข้าใช้อยู่เป็นประจำ