นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกากับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.เตรียมที่จะออกระเบียบเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ทั้งในส่วนของโซลาร์เสรี ,โซลาร์ภาคประชาชน โดยรอให้รัฐบาลประกาศแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ฉบับใหม่ออกมาก่อน หลังคาดว่าจะมีการนำแผน PDP เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 7 ม.ค.62 ซึ่งตามแผน PDP น่าจะมีการรับซื้อไฟฟ้าประเภทโซลาร์เพิ่มเติม ซึ่งหลังจากนั้นกกพ.ก็คาดว่าจะออกระเบียบได้ในไม่ช้าเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ และไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน
ส่วนการจะมีการจัดเก็บค่าบริการระบบสำรองไฟฟ้า (Backup rate) สำหรับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าการขายไฟฟ้าเข้าระบบของโซลาร์ดังกล่าวจะกระทบต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบหรือไม่ ซึ่งก็จะต้องมีความชัดเจนของเรื่องดังกล่าวออกมาพร้อมกัน โดยเบื้องต้นคาดว่าหากมีการขายไฟฟ้าเข้าระบบสำหรับโซลาร์ภาคประชาชนก็จะไม่เกิน 10 KVA ต่อหลัง
นอกจากนี้เมื่อแผน PDP ผ่านความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว กกพ.ก็จะเร่งจัดทำโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ใช้มาตั้งแต่ปี 58 ซึ่งจะมีการทบทวนทุก 3-5 ปี ซึ่งคาดว่าโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่จะแล้วเสร็จภายในครึ่งแรกปี 62 และเริ่มใช้ได้ภายในครึ่งหลังของปี 62
"กกพ.ชุดปัจจุบัน กำลังอยู่ระหว่างการทบทวน แผนยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงานฉบับปัจจุบัน และกำหนดให้ "การส่งเสริม และสนับสนุนการแข่งขันอย่างเป็นธรรม "เป็นวิสัยทัศน์ใหม่ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การกำกับกิจการระยะต่อไป พร้อมทั้งวางกรอบแนวทางการกำกับดูแลภาคพลังงาน เพื่อสร้างความโปร่งใส เปิดเผย และตรวจสอบได้ สร้างความชัดเจนกฎระเบียบ และความเป็นธรรมให้กับองค์กรธุรกิจภาคเอกชน...ธุรกิจภาคเอกชนต้องเดินไปข้างหน้า หัวใจของการทำธุรกิจต้องการความชัดเจนใน กฎระเบียบและมีความเป็นธรรมในการกำกับดูแล "นายเสมอใจ กล่าว
นายเสมอใจ กล่าวว่า กกพ. จะนำเอาแนวทางการปฏิรูปภาคพลังงาน ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศ ด้านพลังงาน เป็นแนวทางในการขับเคลื่อน งานกำกับดูแลภาคพลังงานของประเทศด้วย ขณะนี้ได้อยู่ระหว่างดำเนินการ อาทิ ระบบการออกใบอนุญาต โรงไฟฟ้าแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (OSS) การพัฒนา Big Data สำหรับการกำกับกิจการพลังงาน การสนับสนุนการพัฒนาโครงการโซลาร์ภาคประชาชน โครงการโซลาร์เสรี ตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงการออกระเบียบเพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันโดยผ่านเทคโนโลยี Blockchain
ส่วนกิจการก๊าซธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันเป็นเชื้อเพลิงหลักที่สำคัญในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยยังคงมีบมจ.ปตท. (PTT) เป็นผู้ประกอบการรายเดียวในกิจการก๊าซธรรมชาติของประเทศ ก็จะเริ่มเร่งรัดเพื่อให้มีการเปิดเสรีมากขึ้น โดยจะมีการกำหนดแนวทางและกระบวนการขออนุญาตการประกอบธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ตลอดจนการพัฒนาและการออกใบอนุญาต ศูนย์ควบคุมการสั่งจ่ายก๊าซธรรมชาติ (Transmission System Operation: TSO) เพื่อดำเนินการควบคุมการสั่งจ่ายก๊าซธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้พลังงาน
ทั้งนี้ กกพ.ยังจะทบทวนเรื่องเกณฑ์การออกใบอนุญาตสำหรับธุรกิจก๊าซธรรมชาติ จากที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) และใบอนุญาตประกอบกิจการเป็นผู้จัดหาและค้าปลีกก๊าซธรรมชาติ แต่ปัจจุบันรูปแบบการจัดหาและค้าส่งก๊าซฯ มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยมีการขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ผ่านทางรถขนส่งซึ่งไม่ได้อยู่ในการกำกับดูแลของกกพ.ที่จะดูแลเฉพาะการขนส่งผ่านท่อ รวมถึงการติดตั้งหน่วยที่เปลี่ยน LNG เป็นก๊าซฯนั้น (Regas Unit) ก็มีการจัดตั้งในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ด้วยขนาดที่ไม่ใหญ่มาก ทำให้อาจต้องมีการปรับปรุงเกณฑ์เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย คาดว่าจะมีความชัดเจนในปีหน้า ขณะที่ก็จะทบทวนเรื่องอัตราค่าผ่านท่อก๊าซฯให้มีความเหมาะสมซึ่งจะมีการทบทวนทุก ๆ 3-5 ปี
"ในการจัดหาและค้าส่งก็มีนิยามของมัน จัดหาและค้าส่งถ้ามีรูปแบบใหม่ขึ้นมาก็อาจจะใส่นิยามเข้าไปใหม่ เพื่อให้ออกใบอนุญาตให้ได้ เพื่อให้เปิดกว้างมากขึ้น"นายเสมอใจ กล่าว
นายเสมอใจ กล่าวอีกว่า การกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า และกิจการก๊าซธรรมชาติ ของ กกพ. ในระยะต่อไป จะมุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่น ท่ามกลางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทางด้านพลังงานทดแทน (RE) ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวทางที่เป็นสากล ได้แก่ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 (COP 21) ความพยายามในการสร้างความเข้าใจให้กับชุมชน ภาคประชาชน เพื่อลดกระแสการต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและโครงข่ายพลังงาน โดยที่ยังคำนึงถึงบทบาท ภารกิจหลัก ได้แก่ การสร้างความมั่นคง เพียงพอ และมีเสถียรภาพในภาคพลังงานของประเทศ อัตราค่าบริการ เหมาะสมเป็นธรรม การพัฒนาและขยายโครงข่ายพลังงานที่เป็นธรรม ดูแลสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้พลังงาน ส่งเสริม การใช้พลังงานทดแทนในสัดส่วนที่เหมาะสม ภายใต้แนวทางการสนับสนุน และส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ในภาคพลังงาน
การปรับตัวในการทำงาน เพื่อรองรับเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมในภาคพลังงาน (Energy Disruptive) เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ก็มีแนวทางการกำกับดูแลภาคพลังงานจะต้องวางแนวทางการกำกับ ดูแล แบบมุ่งไปข้างหน้า แทนการกำกับดูแลแบบตามหลัง เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์และไม่ล้าสมัย รวมไปถึงการกำกับดูแลภาคพลังงาน แบบ Regulatory Sand Box ที่เป็นไปในรูปแบบของการนำเสนอ ข้อเสนอ แนวทางการศึกษา กำกับดูแลเทคโนโลยีพลังงานใหม่ ๆ จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ระบบกักเก็บไฟฟ้าบล็อกเชน (Blockchain) ฯลฯ ในรูปแบบของโครงการทดลองและเป็นโครงการนำร่องที่จะทำให้ การกำกับ ดูแล ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
สำหรับความคืบหน้าการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนจำนวนประมาณ 78 เมกะวัตต์ (MW) นั้น ขณะนี้มีผู้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าแล้ว 3 ราย แต่ให้กลับไปรายละเอียดเพิ่มเติม 2 ราย และอนุญาตโครงการแล้ว 1 ราย ได้แก่ โครงการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย ขนาดกำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ มีปริมาณขายไฟฟ้า 6 เมกะวัตต์ ขณะที่กกพ.เปิดให้ทยอยยื่นเสนอโครงการจนถึงวันที่ 31 มี.ค.62